บาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ตลาดจับตามาตรการภาษีสหรัฐ

เงินบาท ค่าเงินบาท

ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ตลาดจับตามาตรการภาษีสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 17-21 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (17/2) ที่ระดับ 33.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 33.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยข้อมูลในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (14/2) ยอดค้าปลีกปรับตัวลดลง 0.9% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายเดือน

ขณะที่คาดว่าลดลงเพียง 0.1% และเมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนมกราคมหลังจากเพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนธันวาคม และหากไม่นับรวมยอดขายรถยนต์และน้ำมัน ยอดค้าปลีกปรับตัวลดลง 0.5% ในเดือนมกราคม หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนธันวาคม

นอกจากนี้ยังมีทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผย สต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจปรับตัวลดลง 0.2% ในเดือนธันวาคมเมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนพฤศจิกายน และเมื่อเทียบรายปี สต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0% ในเดือนธันวาคม ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มความคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้

นอกจากนี้ สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านปรับตัวลดลง 5 จุด สู่ระดับ 42 ในเดือนกุมภาพันธ์แตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2567 โดยดัชนีได้รับผลกระทบจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่อยู่ในระดับสูง

ในวันพฤหัสบดี (20/2 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงปรับตัวในทิศทางอ่อนค่าหลังเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือนมกราคมแสดงให้เห็นว่า กรรมการเฟดวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งความเป็นไปได้ที่มาตรการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะมาตรการกำแพงภาษี จะส่งผลกระทบต่อความพยายามของเฟดในการผลักดันเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลงสู่เป้าหมายที่ 2% ซึ่งกรรมการเฟดมีความเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องเห็นเงินเฟ้อชะลอตัวลงอีก เฟดจึงจะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้

ADVERTISMENT

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงในวันจันทร์ (17/2) ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 4/67 ขยายตัว 3.2% จากตลาดคาดโต 3.7-4.0% แต่เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.0% ในไตรมาส 3/2567 ปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร การลงทุนและการส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน

ขณะที่การอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลชะลอลง และการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ทั้งเรื่องเครื่องมือเครื่องจักร และหมวดก่อสร้าง โดยสาขาการผลิตเกษตรกรรมกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส สาขาที่พักและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งและขายปลีก และสาขาก่อสร้างขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า แม้ตัวเลขดังกล่าวจะปรับตัวขึ้น แต่ตัวเลขเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 4/2567 ไม่สูงอย่างที่หลายฝ่ายคาด เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัดส่วนมากยังชะลอตัว แม้การลงทุนภาครัฐจะขยายตัวมากก็ตาม อาทิ ภาคยานยนต์ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังหดตัวต่อเนื่อง จากความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ จากการมุ่งแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน

และในวันอังคาร (18/2) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ปีนี้กระทรวงการคลังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3% และพยายามทำให้ถึง 3.5% โดยในปี 2568 รัฐบาลยังมีการขับเคลื่อนนโยบายอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นผ่านโครงการเงิน 10,000 บาทในเฟสถัดไป รวมไปถึงโครงการ Easy E-Receipt ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ สถาบันอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุว่า การส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567 ขยายตัว 7.3% ทำสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ แตะระดับ 1.63 ล้านล้านบาท จากความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่หลายประเทศเผชิญสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

นอกจากนี้ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือประธานบอร์ด ธปท. คนใหม่ แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ที่ครบวาระและสิ้นสุดการรักษาการว่า ขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งมีนายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ เป็นประธาน อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติรายชื่อบุคคลที่เสนอเข้าไป

โดยจะนัดประชุมในช่วงปลายเดือนนี้ อีกทั้งกล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเร่งพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวได้ 3-3.5% ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.47-33.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 33.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (17/2) ที่ระดับ 1.0492/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 1.0476/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยความหวังเกี่ยวกับข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นปัจจัยหนุนช่วยให้ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้น

โดยนักลงทุนยังคงติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิด หลังความสัมพันธ์สหรัฐ-ยูโรถูกจับตา เมื่อสหรัฐเตรียมเจรจากับรัสเซียเพื่อยุติสงครามในยูเครน แต่ไม่มีการเชิญทั้งยูเครนและพันธมิตรยุโรปเข้าร่วม ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (20/2) ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเยอรมนี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอตัวลงจาก 0.8% ในเดือนก่อนหน้า ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0400-1.0506 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 1.0496/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (17/2) ที่ระดับ 151.87/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เยนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 152.54/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังทางรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขประมาณการเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2567

ในช่วงเช้าวันจันทร์ (17/2) โดยระบุว่าตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ของญี่ปุ่น ขยายตัว 2.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 1% โดยข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงขยายตัวได้ดี แม้ว่า BOJ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา และส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินต่อไป

ในวันพุธ (19/2) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลดุลการค้าเดือนมกราคม ขาดดุล 2.76 ล้านล้านเยน หรือราว 1.82 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกกดดันจากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โดยยอดนำเข้าเดือนมกราคมพุ่งขึ้น 16.7% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แตะระดับ 16.62 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ ยอดส่งออกเดือนมกราคมปรับตัวขึ้น 7.2% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 7.86 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 จากการส่งออกรถยนต์ ชิป และยาที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.27-152.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 150.56/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ