TRUE ตั้งเป้าปี‘68 กำไรฟื้น จ่อปันผลสูงกว่า 50% ของกำไรสุทธิ

TRUE

TRUE ตั้งเป้าปี 2568 พลิกกลับเป็นกำไรสุทธิ คาดรายได้บริการโต 2-3% EBITDA โต 8-10% วางงบฯลงทุน 2.8-3 หมื่นล้านบาท พร้อมพิจารณาจ่ายเงินปันผลมากกว่า 50% ของกำไรสุทธิ ถือเป็นครั้งแรกหลังเสร็จสิ้นการควบรวมกิจการ

นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มปี 2568 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) และโรมมิ่งภายในประเทศกับ NT เติบโต 2-3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่ 1.65 แสนล้านบาท พลิกกลับเป็นกำไรสุทธิ

ด้าน EBITDA คาดจะเติบโต 8-10% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 1.24 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) รวมการบูรณาการคาดว่าจะอยู่ที่ 2.8-3 หมื่นล้านบาท

นกุล เซห์กัล
นกุล เซห์กัล

โดยปี 2568 ทรู คอร์ปอเรชั่น คาดว่าจะมีกำไรสุทธิหลังหักภาษี ตามรายงานและได้พิจารณาความเป็นไปได้ในการจ่ายเงินปันผลมากกว่า 50% ของกำไรสุทธิ ถือเป็นครั้งแรกหลังเสร็จสิ้นการควบรวมกิจการ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของคณะกรรมการ

นอกจากนี้จะมีการยกเลิกการใช้คลื่น 850MHz และ 2300MHz หลังสิ้นสุด 3 ส.ค. 68 ซึ่งบริษัทเตรียมเข้าประมูลคลื่น 2300MHz ในไตรมาส 2/68 ซึ่งจะทำให้รายจ่ายต่ำกว่าเดิมที่มีค่าเช่าใช้ 2 คลื่น จาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จำนวน 1.7 พันล้านบาท/ไตรมาส โดยหากเปลี่ยนมาจ่ายค่าใบอนุญาตแทนจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับการที่ไม่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกนั้น มองว่าพรีเมียร์ลีกเป็นเพียงแค่คอนเทนต์ส่วนหนึ่งเท่านั้น กลุ่มลูกค้าคอกีฬา อาจได้รับคอนเทนต์จากทรูในส่วนของตัวอื่น ๆ หากไม่ได้ฉายต่อจริง ๆ ซึ่งยังมีอะไรหลายอย่างที่เราจะสามารถทำได้ เพื่อจะสนองความต้องการของแฟนกีฬาทุกกลุ่ม

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ในปี 2567 เป็นปีที่สำคัญสำหรับทรู คอร์ปอเรชั่น ด้วยการพลิกกลับมามีกำไรภายหลังการปรับปรุงตั้งแต่ไตรมาสแรกอย่างเกินความคาดหมาย ซึ่งการขับเคลื่อนต่อเนื่องนับตั้งแต่การควบรวมกิจการ ทำให้ EBITDA เติบโตติดต่อกัน 8 ไตรมาส พร้อมกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส สำหรับในปี 2567 ทรู คอร์ปอเรชั่นมีกำไรภายหลังการปรับปรุง 9.9 พันล้านบาท โดยมาจากไตรมาส 4/2567 จำนวน 3.6 พันล้านบาท

รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC ปรับตัวดีขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมา (YOY) โดยรายได้จากการให้บริการทั้งปี 2567 เติบโต 4.6% สูงกว่าแนวโน้ม การปรับตัวดีขึ้นของรายได้จากการให้บริการมาจากการเติบโตของรายได้ในทุกกลุ่มธุรกิจ และการปรับสมดุลการแข่งขันด้านราคาอย่างต่อเนื่องในกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และออนไลน์ ทรู คอร์ปอเรชั่นรายงานรายได้รวมเติบโต 0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ADVERTISMENT

โดยรายได้จากการให้บริการปรับตัวดีขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) ในทุกกลุ่มธุรกิจ แต่ถูกลดทอนบางส่วนจากรายได้การขายผลิตภัณฑ์ที่ลดลง เนื่องจากการปรับลดเงินสนับสนุนค่าเครื่องโทรศัพท์

สำหรับไตรมาส 4/2567 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย หรือ D&A) ลดลง 7.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมและวินัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนเครือข่ายลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักจากการประหยัดต้นทุนจากการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยและการจัดซื้อจัดจ้าง ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ลดลง 22.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้รับผลประโยชน์จากการควบรวมในหลายด้าน

โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างองค์กรให้ทันสมัย การริเริ่มกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ๆ และประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ด้วยการบูรณาการกรอบการดำเนินงานที่มุ่งเน้นความสามารถในการทำกำไรอย่างยั่งยืน ทรู คอร์ปอเรชั่นสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

ทรู คอร์ปอเรชั่นบันทึกการเพิ่มขึ้นของ EBITDA จำนวน 5.8 พันล้านบาท นับตั้งแต่การควบรวมกิจการ ซึ่งนับเป็นการเติบโตของ EBITDA เป็นไตรมาสที่ 8 ติดต่อกัน สำหรับไตรมาสที่ 4/2567 EBITDA เพิ่มขึ้น 12.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 1.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยภาพรวมปี 2567 EBITDA เพิ่มขึ้น 14.5% สูงกว่าแนวโน้ม โดยการเติบโตของ EBITDA มาจากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ ผลประโยชน์จากการควบรวม และวินัยทางการเงิน อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่การควบรวมกิจการที่ 60.6% ในไตรมาส 4/2567

ในไตรมาส 4/2567 ทรู คอร์ปอเรชั่นบันทึกผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-time costs) จำนวน 1.11 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มีผลขาดทุนสุทธิหลังหักภาษี 7.5 พันล้านบาท รายการพิเศษที่ไม่ใช่เงินสดเกี่ยวข้องกับการด้อยค่าสินทรัพย์จากการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยและสินค้าคงเหลือ การด้อยค่าประจำปีของค่าความนิยมและเงินลงทุน และผลขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม ทรู คอร์ปอเรชั่นยังได้ตั้งสำรองค่าใช้จ่ายเป็นเงินสดสำหรับค่าชดเชยที่ต้องจ่ายหน่วยงานท้องถิ่นในปี 2568 เมื่อปรับปรุงรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวเหล่านี้ กำไรสุทธิหลังหักภาษีอยู่ที่ 3.6 พันล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 451 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน

โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับตัวดีขึ้นของ EBITDA และการลดลงของต้นทุนทางการเงิน ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) สำหรับไตรมาส 4/2567 อยู่ที่ 1.14 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่จากการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย