IMF แนะแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย คลังระดมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ

IMF

คลังเร่งเครื่องปั๊มจีดีพีปี’68 ไปให้ถึง 3.5% ระดม 5 มาตรการ เร่งเบิกจ่าย-กระตุ้นเอกชนลงทุน ต้อนบิ๊กเทคที่ได้บีโอไอ “กูเกิล-อเมซอน” เม็ดเงินลงทุนปีนี้อย่างน้อย 75,000 ล้าน “ดร.พิพัฒน์-KKP” ชี้ไทยต้องทำ 3 นโยบาย “การเงิน-การคลัง-ปฏิรูปโครงสร้าง” โจทย์ยากทำจีดีพีเกิน 3% กสิกรฯยันเศรษฐกิจแผ่วทุกเครื่องยนต์ “กรุงไทย” กดดัน ธปท.หั่นดอกเบี้ย ไอเอ็มเอฟแนะไทยควรลดดอกเบี้ยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน X.COM เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่จังหวัดสงขลา โดยระบุว่าได้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อลดภาระประชาชน

นอกจากนี้ บนเวที Matichon Leadership Forum 2025 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า รัฐบาลได้มีการพูดคุยและขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ที่ตอนนี้มีกำไร ให้เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่อง ปล่อยกู้ให้กับคนไทยได้มีเครดิตเพื่ออัพเกรดธุรกิจของตัวเอง รวมถึงให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาลดดอกเบี้ยเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เพราะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

พร้อมกับย้ำว่า ปี’68 ตั้งเป้าเศรษฐกิจขยายตัว 3% และจะพยายามดันไปให้ถึง 3.5%

คลังงัดมาตรการกระตุ้น

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คลังอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

โดยรายละเอียดของมาตรการต่าง ๆ ยังต้องรอผลการพิจารณามาตรการจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ทาง สศค.มีแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้สูงกว่า 3% หรืออาจจะขยายตัวได้ถึง 3.5% หากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศเอื้ออำนวย รวมถึงการเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินของนโยบายต่าง ๆ อย่างเต็มที่

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ เบื้องต้นจะมีการดำเนินการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 5 เรื่อง ดังนี้ 1.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2568 ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายให้ได้ 80% หรือเพิ่มขึ้นอีก 5% ก็จะมีเม็ดเงินลงทุนลงสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 4.65 หมื่นล้านบาท ช่วยดันให้จีดีพีปี 2568 เพิ่มขึ้นได้อีก 0.11%

2.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของประชาชนผู้ได้รับสิทธิภายใต้โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เฟส 3 เพื่อทำให้เม็ดเงินทั้งหมดถูกใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ และทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มจีดีพีได้อีก 0.1% 3.เร่งรัดการลงทุนในโครงการบ้านเพื่อคนไทย เพื่อให้เกิดการลงทุนตามแผนงาน โดยเบื้องต้นเม็ดเงินในปี 2568 จะลงทุนที่ 830 ล้านบาท ช่วยผลักดันจีดีพีเพิ่ม 0.002%

ADVERTISMENT

4.การกระตุ้นการท่องเที่ยวและช่วงปลายปีที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 เพื่อจูงใจให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากกว่าเป้าหมาย หากเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 5 แสนคน ซึ่งจะช่วยเพิ่มจีดีพีในปี 2568 ได้อีก 0.15%

เร่งรัดแผนลงทุนต่างชาติ

และ 5.การเร่งรัดโครงการการลงทุนของภาคเอกชนหลังได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุน Data Center และ Cloud Region เพื่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนจริงสู่ระบบเศรษฐกิจและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ

ปัจจุบันมีโครงการที่ได้รับบัตรส่งเสริมและรอการลงทุนอยู่แล้ว เช่น Google และ Amazon Web Service (AWS) หากเร่งรัดเกิดเม็ดเงินลงทุนจริงปีนี้ได้ 75,000 ล้านบาท ก็จะช่วยให้จีดีพีไทยในปี 2568 ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก 0.19%

ปลัดคลังชี้ลดดอกเบี้ยตัวเสริม

ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจะทำให้จีดีพีโตจาก 3% ไป 3.5% เป็นความท้าทายสูงมากที่กระทรวงการคลังต้องขับเคลื่อน ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน จึงต้องไปดูโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนไป ให้เร่งรัดการลงทุนเร็วขึ้นไม่ทำอะไรเลย จีดีพีก็คงแค่ 2.8-2.9%

ต้องทำพร้อมกัน 3 นโยบาย

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงนี้ก็สามารถทำได้ หากเราเชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังโตต่ำกว่าศักยภาพ และมีอะไรที่ขัดขวาง อย่างเรื่องการลดดอกเบี้ยก็มีช่องที่ลดได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพระบบการเงิน ต้องการเก็บกระสุนเอาไว้รองรับเวลามีช็อกแรง ๆ

สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน หากจะกระตุ้นดีมานต์อย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะปัญหาเกิดจากโครงสร้างด้านซัพพลายมากกว่า ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือ การเพิ่มผลิตภาพ การดูแลภาคการผลิต ไม่ใช่แค่ลดดอกเบี้ย หรือเพิ่มขาดดุลการคลังแต่ต้องมีทั้ง 3 เรื่อง คือ นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ

จี้ทบทวนแผนแจกเงิน

“ตอนนี้ผมก็มองว่ามีรูมที่สามารถลดดอกเบี้ยได้ นโยบายการเงินก็ช่วยได้ ส่วนนโยบายการคลังก็ควรทำ แต่ควรเน้นว่า ต้องใช้เงินให้มีประโยชน์สูงสุด เพราะวันนี้ก็เริ่มเห็นแล้วว่า การแจกเงิน ผลต่อเศรษฐกิจก็ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ฉะนั้นวันนี้จริง ๆ โจทย์ของคลังคือ งบฯกระตุ้นมีอยู่แล้วในมือ แต่จะเอาไปใช้อะไรให้กระตุ้นให้ได้มากที่สุด ผมว่าตอนนี้ต้องมาหมดเลย ทั้งนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และต้องปฏิรูปเศรษฐกิจด้วย ไม่อย่างนั้นถึงจีดีพีโตแตะ 3 แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับนโยบายการคลัง อย่างการแจกเงินดิจิทัล เฟส 3 ก็ต้องกลับมาคิดว่าจะทำรูปแบบไหน เพื่อให้มีมัลติพลายเออร์ให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2567 ที่ออกมา มีผลจากแจกเงิน 0.7% ของจีดีพี แต่จีดีพีไตรมาส 4 ออกมาบวกแค่ 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเท่านั้น

โจทย์ยาก ศก.ไทยโตเกิน 3%

ดร.พิพัฒน์กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะให้โตเกิน 3% คงยากมาก แต่การเติบโตในช่วง 2.5-3% ยังเป็นไปได้ เพราะมีปัจจัยเรื่องสงครามการค้าเข้ามา ซึ่งการกระตุ้นก็ทำได้ แต่จะไม่ยั่งยืน เพราะปัญหาวันนี้คือ เศรษฐกิจไทยไม่มีตัวขับเคลื่อนสร้างการเติบโต

ส่วนปัญหาเฉพาะจุดอย่างตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดรถยนต์ที่ยอดขายหดตัวหนัก ผลจากสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อนั้น ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ก็ควรเข้าไปแก้ปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งการลดดอกเบี้ยจะช่วยตรงนี้ด้วย เพราะจะทำให้มีดีมานด์เพิ่มขึ้นได้ หรือคนที่สนใจก็อาจอยากจะซื้อมากขึ้น รวมถึงการลดดอกเบี้ยลงมาก็จะช่วยให้การตัดสินใจด้านการลงทุนทำได้ง่ายขึ้นด้วย

ข้อเสนอเอกชนให้ปลดล็อก LTV บ้านราคาแพงนั้นก็ทำได้ แต่ก็ต้องพิจารณาให้สมดุล

“นโยบายที่เกี่ยวกับสถาบันการเงินจะมีเรื่องความเสี่ยงที่ต้องดู แต่ก็ต้องบาลานซ์ดี ๆ ว่าไม่ไปทำให้เกิดความเสี่ยงสะสม ซึ่ง LTV มีไว้เพื่อไม่ให้แบงก์ไปแข่งกันเกินไปจนเกิดความเสี่ยงมากเกินควรจะเป็น”

ส่วนรถยนต์น่าจะมีปัญหามากกว่า เพราะมีเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เข้ามาดัมพ์ราคาจนทำให้ราคารถตกทั้งตลาด

สำหรับข้อเสนอเรื่องให้นำค่างวดลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อนั้น ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ก็มีคำถามว่าทำไมต้องเข้าไปอุดหนุนการมีรถด้วย เพราะหากเป็นบ้านยังพออธิบายได้ว่า อยากสนับสนุนให้คนมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่กรณีรถ ถ้าให้หักลดหย่อนภาษีได้ ก็จะกลายเป็นว่าคนรวยได้ประโยชน์มากกว่าคนจน

ลุ้น กนง.หั่นดอกเบี้ย 2 ครั้ง

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาล่าสุดจะเห็นว่าการเติบโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน และการเติบโตลดลงต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยประมาณการจีดีพีปีนี้จะโตที่ 2.4% ถือว่าค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโตแผ่วหมด และไม่เอื้อต่อการเติบโต เช่น ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ชะลอตัวต่อเนื่อง หรือแม้แต่ท่องเที่ยวขยายตัวได้ 0.2% หรือภาคการส่งออกที่เร่งตัวไปก่อนหน้าก่อนความผันผวนจากนโยบายการค้าจะมา ทำให้การส่งออกโตดี แต่จะเห็นการชะลอตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2568

ส่วนทิศทางนโยบายการเงิน มองว่า กนง.น่าจะมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ 2 ครั้ง ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา กนง.ไม่ได้แสดงท่าทีจะปรับลดดอกเบี้ย เพื่อรอดูทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่หาก กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจโตชะลอ ภาคสินเชื่อไม่ขยายตัว ก็สามารถปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้

“เดิมเรามองว่า กนง.น่าจะลดดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่เห็นโอกาสในการลดมีมากขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่โตแผ่ว เงินเฟ้อต่ำกว่า 1% หากลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระครัวเรือนได้ เพราะตอนนี้ตัวเลขเศรษฐกิจแม้จะพอไปได้ ทั้งท่องเที่ยวส่งออก การเบิกจ่ายภาครัฐ แต่เศรษฐกิจโดยรวมไม่ฟื้นตัว ภาคธนาคารระวังปล่อยกู้ ทำให้ไม่เกิดดีมานด์ จึงมีรูมให้ กนง.ลดดอกเบี้ยได้”

บาทแข็งกดดัน ธปท.หั่นดอกเบี้ย

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568 อยู่ที่ 2.7% แต่จากตัวเลขของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาล่าสุด จะเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยชะลอตัว แม้ว่าการส่งออกจะดีต่อเนื่องติดต่อกัน แต่ภาคผลิตไม่วิ่งตาม ซึ่งจากเดิมคาดการณ์เศรษฐกิจปี’67 จะเติบโตได้ 2.7-2.8% แต่ออกมาแค่ 2.5% แสดงว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว

หากดูค่าเงินบาท นับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จะเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านถือว่าอยู่ในโซนแข็งค่า ภายใต้เศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ใกล้เคียง 1% จากปีก่อนอยู่ที่ 0.4-0.5% แม้ว่าจะปรับขึ้นมา แต่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมานาน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจนโยบายการเงิน ซึ่งมีโอกาสที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยในครั้งนี้

“จีดีพี 2.7% ที่เรามองไม่ได้ทรุด แต่เป็นการเติบโตทรง ๆ จากภาคท่องเที่ยวและบริการ แต่ภาคอุตสาหกรรมแย่ลงมาจากสินค้าจีนตีตลาด ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้น คาดว่าปีนี้น่าจะหนักขึ้น และยิ่งเจอเงินบาทแข็ง ยิ่งทำให้มีการนำเข้าสินค้าจีนเข้ามา ภาคผลิตยิ่งทรุดมีผลต่อเศรษฐกิจ และถ้าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจะเห็นการลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 1 ครั้ง”

IMF แนะ ธปท.ลดดอกเบี้ย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประชุมร่วมกับประเทศไทย ประจำปี 2567 หรือ Article IV Consultation ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยว่าโตช้าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน และคาดว่าในปี,68 จีดีพีไทยจะอยู่ที่ 2.9% พร้อมแนะรัฐบาลไทยให้ปรับกรอบวินัยการคลังให้สมดุลโดยเสนอให้กันงบฯบางส่วนจากนโยบายการแจกเงิน มาลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพรวมถึงระบุว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน

ขณะที่ในการดำเนินนโยบายการเงินว่า IMF เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ครั้งก่อนในเดือนตุลาคม และแนะนำให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีก เพื่อช่วยปรับปรุงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ พร้อมแนะนำให้เปิดเสรีระบบอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงทยอยยกเลิกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อลดความจำเป็นการใช้มาตรการแทรกแซงในระยะยาว