ถอดรหัส…ร่าง พ.ร.บ.Financial Hub

Financial Hub
คอลัมน์ : นอกรอบ

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.Financial Hub พร้อมรับทราบแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ.Financial Hub ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) เพื่อช่วยดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น

ร่าง พ.ร.บ.Financial Hub

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปประเด็นสาระสำคัญของร่างกฎหมายและข้อสังเกตประเด็นต่าง ๆ ไว้ดังนี้

โดยวัตถุประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.Financial Hub คือการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีการถ่ายทอดทักษะทางการเงินมากขึ้น และพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงินของประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนบทบาทให้ไทยเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลก

ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน คือ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริการชำระเงิน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และธุรกิจทางการเงิน หรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง หรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงิน ตามที่คณะกรรมการกำหนด

สำหรับโครงสร้างกำกับดูแลมีการตั้ง “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจการเงิน” โดยมี รมว.คลังเป็นประธาน และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority : สำนักงาน OSA)

ADVERTISMENT

ซึ่งมีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐที่เป็นนิติบุคคล แต่ไม่เป็นส่วนราชการ ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป้าหมาย และปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ แบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to End) โดยทุนจัดตั้งมาจากทุนของรัฐบาล ค่าธรรมเนียม และดอกผลที่เกิดจากการบริหารทรัพย์สินของสำนักงาน เป็นต้น

กรณีที่มีปัญหากระทบเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน : ให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ตามข้อเสนอของ ธปท. ก.ล.ต. และ คปภ.

ADVERTISMENT

จุดที่น่าสนใจร่างกฎหมาย

ประเด็นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ (ม.53) โดยแม้ร่างกฎหมายจะระบุชัดเจนให้ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub สามารถชักชวน ขายสินค้า โฆษณา หรือให้บริการแก่ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Nonresidents: NRs) เท่านั้น แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้บริการตัวแทน นายหน้า ค้า จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศได้ในลักษณะ Business to Business (B2B)

สะท้อนการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันด้านธุรกิจ Wealth Management ที่ขยายขอบเขตไปถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งสามารถนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาขายลูกค้าที่มีถิ่นฐานอยู่ในไทยและนำไปลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Coservice (กับสถาบันการเงินในประเทศ โดยที่ไม่ได้เป็นการให้บริการลูกค้าโดยตรง) ซึ่งย่อมจะทำให้การแข่งขันในธุรกิจนี้กับสถาบันการเงินไทยมีความเข้มข้นมากขึ้น

นอกจากนี้ ด้วยเจตนาของร่างกฎหมายมองว่า การทำธุรกรรมในลักษณะ Out-Out ดังกล่าวอาจไม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเงินของประเทศมากนัก ดังนั้น จึงได้อนุญาตให้มีการทำกิจกรรมที่ “มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนตลาดในประเทศ” อื่น ๆ ด้วย เพื่อสนับสนุนโอกาสการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการด้านการเงินในประเทศ อาทิ การกู้ยืมในลักษณะ Interbank กับสถาบันการเงินไทย รวมถึงสามารถทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในประเทศไทยเพื่อโอนความเสี่ยงได้

สิทธิประโยชน์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาไทย (ม.46-52) มีหลายด้าน โดยให้สิทธิในการเป็นเจ้าของอาคารชุด การนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในไทยได้ตามจำนวนและระยะเวลาที่สำนักงานอนุญาต รวมถึงสิทธิในการมีสถานะเป็น NRs ที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน ภายใต้กฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนเงินและมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท และการประกอบอาชีพที่เคยจำกัดให้เฉพาะคนไทย หรืออาชีพที่แต่เดิมต้องได้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองก่อน

สถานที่ประกอบธุรกิจ (ม.37-38) ให้ตั้งอยู่ในพื้นที่กำหนด ซึ่งคาดว่าจะเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพราะมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน และการใช้ชีวิต เพื่อสนับสนุนการตั้งธุรกิจการเงินของต่างชาติ

คณะกรรมการกำกับอำนาจเต็ม

ทั้งนี้ ม.53 ร่างกฎหมายเปิดโอกาสให้คณะกรรมการกำกับฯ กำหนดเพิ่มเติมได้ ภายใต้ข้อเสนอแนะของสำนักงาน และหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธปท. ก.ล.ต. และ คปภ. ซึ่งหมายความว่าคงต้องติดตามกฎหมาย/ประกาศลำดับรองในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุว่า คณะกรรมการกำกับมีอำนาจตามกฎหมายค่อนข้างมาก โดยจะสังเกตได้จากการปิดมาตราสำคัญ ๆ ด้วยข้อความให้คณะกรรมการสามารถประกาศกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งแม้ว่าจะสะท้อนเจตนาของการออกแบบกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกฎหมายอื่น ๆ

แต่การที่ไม่ได้ตีกรอบอำนาจที่ชัดเจน ก็ทำให้เกิดประเด็นปลายเปิดที่อาจมีผลต่อ Stakeholders ในประเทศมากขึ้นในอนาคต เช่น ในบริบทของการกำหนดประเภทและขอบเขตของธุรกิจเป้าหมาย การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจภายใต้การส่งเสริม หรือขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการในการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น

ปมทับซ้อนการกำกับดูแล

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความยุติธรรมในการแข่งขันกับสถาบันการเงินในไทย (Level Playing Field) อาทิ ในมิติของความเข้มข้นของการกำกับดูแลด้านเงินกองทุน การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่าง ๆ รวมถึง Market Conduct ซึ่งเป็นบทบาทของคณะกรรมการ และในหลักการคณะกรรมการควรกำหนดให้สอดคล้องกับแนวทางที่ผู้กำกับดูแลการเงินในประเทศดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อันจะกลายเป็นประเด็นติดตามกฎหมายลูก/ประกาศต่าง ๆ ที่จะตามมา

รวมถึงปัญหาการทับซ้อนของการกำกับดูแล เนื่องจากขอบเขตการทำธุรกรรมทางการเงินที่อยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการ และสำนักงานมีความทับซ้อนกับบริการทางการเงินเกือบทุกด้าน เพียงแต่ในระยะแรกจะเน้นให้บริการกับผู้ที่มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ ( NRs) เป็นหลัก

โดยขอบเขตการกำกับดูแลของสำนักงานจึงเน้นควบคุมกิจการการเงินที่ให้บริการกับ NRs ตลอดกระบวนการ ตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้ง ไปจนถึงการเพิกถอนกิจการ ซึ่งต่างจากหน่วยงานกำกับดูแลปัจจุบัน ทั้ง ธปท. ก.ล.ต. และ คปภ.ที่เน้นการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ให้บริการกับผู้มีถิ่นฐานในประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตมีการขยายขอบเขตมาให้บริการลูกค้าผู้มีถิ่นฐานในประเทศมากขึ้น คงจะหลีกเลี่ยงการทับซ้อนของการกำกับดูแลได้ยาก อันเป็นประเด็นที่ต้องจัดการต่อไป

ขณะที่การดูแลประเด็นการฟอกเงินและการทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีความซับซ้อนขึ้น ตามปริมาณและมูลค่าธุรกรรมการเงินที่เพิ่มขึ้น

โจทย์ยากบอร์ดกำกับ

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ร่างกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมถึงแรงจูงใจที่สำคัญในการดึงดูด NRs ให้เข้ามาตั้งออฟฟิศในไทย อาทิ การลดภาษี ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคหลักของไทยเมื่อเทียบกับศูนย์กลางทางการเงินอื่น ๆ และจะกระทบต่อประสิทธิผลของการตั้ง FinHub ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตต่าง ๆ เป็นการพิจารณาจากร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. …. ก่อนขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ ของร่างกฎหมายอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก

และหากกฎหมายสามารถผ่านกระบวนการทางกฎหมายต่าง ๆ ได้จริง โดยสาระสำคัญยังคงอยู่ ก็จะกลายเป็นโจทย์ยากของคณะกรรมการที่จะกำหนดรายละเอียดของกฎหมายและประกาศย่อยต่าง ๆ ภายใน 360 วันหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายในการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจการเงิน กับเป้าหมายของการดูแลด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน รวมถึงผลดี-ผลกระทบอื่น ๆ อย่างรอบด้าน