ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังซาอุฯ-รัสเซียเตรียมปรับเพิ่มกำลังการผลิต

– ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลงมากกว่า 2 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เนื่องจากผู้เล่นในตลาดเกิดความกังวล หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกอย่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย เผยว่าอาจตัดสินใจปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในการประชุมของกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกในสัปดาห์หน้า

-รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซียกล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียให้การสนับสนุนในหลักการต่อการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยทางเลือกหนึ่งในนั้นคือ การทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 61 เพื่อชดเชยอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากประเทศเวเนซุเอลาและอิหร่าน

– ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลัง Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเวลาสี่สัปดาห์ติดต่อกัน โดย ล่าสุด ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 15 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 863 แท่น แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี

+/- หลังตลาดปิด จีนประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ เพิ่มเติมร้อยละ 25 กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ จำนวน 659 รายการ มูลค่าราว 50,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ โดยระบุว่าสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 545 รายการ มูลค่าราว 34,000 ล้านดอลลาร์ จำพวกสินค้าเกษตร อาหารทะเล และยานยนต์ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. นี้ ขณะที่อีก 114 รายการ จำพวกเคมีภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ และพลังงาน จะประกาศวันที่มีผลในภายหลัง

ราคาน้ำมันเบนซิน ตลาดสิงคโปร์ปิดเนื่องในวัน Hari Raya Puasa

ราคาน้ำมันดีเซล ตลาดสิงคโปร์ปิดเนื่องในวัน Hari Raya Puasa

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 62-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 71-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาท่าทีของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเกี่ยวกับมาตรการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน หลังมาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้ผลิตอาจเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา โดยจะมีการหารือในการประชุมของกลุ่มโอเปกวันที่ 22-23 มิ.ย. นี้

กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบยืนอยู่เหนือต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของสหรัฐฯ

ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย. 61 แตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เท็กซัสสูงกว่า 11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล