
คอลัมน์ : Next Normal ผู้เขียน : ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร EXIM BANK
“โลกของเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” อาจไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงในยุค Trump 2.0 เพราะหลังทรัมป์เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ สมัยที่ 2 ได้ไม่ถึง 1 เดือนก็สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะการใช้อาวุธหนักอย่างการขู่ขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ของสหรัฐ โดยอาศัยแต้มต่อจากการเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดด้วยสัดส่วนกว่า 13% ของการนำเข้าสินค้าของโลกเป็นตัวประกัน
ไม่เพียงเท่านี้ ทรัมป์ยังมีอีกหนึ่งอาวุธติดปลายนวมคือ “น้ำมัน” ที่จะสามารถใช้แต้มต่อจากการที่สหรัฐ เป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกราว 20% และ 13% ตามลำดับ สร้างอำนาจต่อรองในหลายมิติ ดังนี้
หมัดฮุก…ลดขาดดุลการค้า
โดยใช้น้ำมันเป็นสินค้าสำคัญในการขู่ขึ้นภาษีจากประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันไปสหรัฐ ในสัดส่วนสูง อาทิ แคนาดา (พึ่งพาสหรัฐกว่า 95% ของการส่งออกน้ำมัน) เม็กซิโก (กว่า 80%) ทำให้ไม่แปลกใจที่ทั้งสองประเทศต้องยอมเพิ่มงบประมาณป้องกันผู้อพยพและยาเสพติดตามที่ทรัมป์เรียกร้อง แลกกับการเลื่อนขึ้นภาษีนำเข้าออกไป
นอกจากนี้ ในระยะถัดไปทรัมป์อาจใช้น้ำมันเป็นหนึ่งในสินค้าที่บีบให้ประเทศต่าง ๆ นำเข้ามากขึ้นนอกเหนือจากสินค้าเกษตร เห็นได้จากนโยบาย Drill, Baby, Drill ของทรัมป์ที่ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีก 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก โดยสหรัฐกลายมาเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิครั้งแรกในรอบ 70 ปี ก็ในสมัย Trump 1.0
ทั้งนี้ ประเทศที่อาจตกอยู่ในเรดาร์ที่สหรัฐบีบให้นำเข้าน้ำมันมากขึ้น ก็อาจเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ และเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิสูง อาทิ ยุโรป สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม ไทย เป็นต้น (ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 10 ปีก่อนที่แทบไม่มีการนำเข้าเลย มาอยู่ที่ระดับ 11% ในปัจจุบัน ทำให้สหรัฐกลายเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันดิบอันดับ 3 ของไทยรองจาก UAE และซาอุดีอาระเบียเท่านั้น)
หมัดแย็บ…ชะลอเงินเฟ้อ
การที่ทรัมป์เดินเกมรุกขู่ขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าอาจผลักดันให้เงินเฟ้อสหรัฐ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 3.0% ปรับสูงขึ้น โดย Deutsche Bank คาดว่า หากทรัมป์ขึ้นภาษีกับแคนาดา เม็กซิโก และจีนจริง อาจทำให้เงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มขึ้นอีกถึง 1% ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้สิ่งที่ทรัมป์หาเสียงว่าจะลดเงินเฟ้อและค่าครองชีพให้ชาวอเมริกันทำได้ยากขึ้น
ทรัมป์จึงอาจหวังใช้กลยุทธ์การเพิ่มอุปทานน้ำมันมาช่วยบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งอาจมีส่วนช่วยให้เงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% เร็วขึ้น หนุนให้ Fed ลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าตลาดคาดที่ 1 ครั้งในปีนี้ โดยที่ทรัมป์ไม่ต้องกดดันผ่าน Truth Social ทั้งนี้ หากพิจารณาน้ำหนักสินค้าหมวดพลังงานในตะกร้าเงินเฟ้อสหรัฐ ก็มีสัดส่วนถึงกว่า 8%
หมัดสวน…คานอำนาจ OPEC+
ในอดีตต้องยอมรับว่า ผู้ควบคุมราคาน้ำมันในตลาดโลกหลัก ๆ คือ กลุ่ม OPEC+ นำโดยตะวันออกกลางและรัสเซีย ที่กุมกำลังการผลิตน้ำมันราว 50% ของโลก ขณะที่สหรัฐแทบไม่มีบทบาทเลย โดยเฉพาะช่วงก่อนวิกฤต Hamburger ที่สหรัฐมีกำลังการผลิตไม่ถึง 5% ของโลก และยังต้องนำเข้ากว่า 50% ของการบริโภคทั้งหมด อีกทั้งสหรัฐยังมีกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันตั้งแต่ปี 2518 ทำให้น้ำมันสหรัฐที่ผลิตได้ถูกใช้ในประเทศเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม หลังสหรัฐมีการพัฒนาเทคโนโลยี Fracking ขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) และมีการยกเลิกกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันในปี 2558 สหรัฐก็เริ่มมีบทบาทต่อตลาดน้ำมันโลกมากขึ้น ซึ่งทรัมป์ก็เล็งเห็นโอกาสในการเพิ่มจุดแข็งดังกล่าว เขาจึงหนุนให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตเต็มกำลัง ไม่เพียงหวังเพิ่มรายได้จากการส่งออก แต่ยังเอาไว้คานอำนาจกับ OPEC+ ได้อีกด้วย
โดยที่ผ่านมา สหรัฐมักใช้การเพิ่ม/ลดปริมาณน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (U.S. Strategic Petroleum Reserve : SPR) ที่มีกว่า 395 ล้านบาร์เรล เป็นเครื่องมือในการควบคุมราคา อย่างในช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจาก COVID-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เร่งให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น สหรัฐได้ปล่อยน้ำมันออกจาก SPR หลายครั้ง เพื่อกดราคาลงมา
สวนทางกับ OPEC+ ที่ดูจะเกียร์ว่างไม่ยอมเพิ่มกำลังผลิต เพราะต้องการหากำไรจากราคาน้ำมันขาขึ้น นอกจากนี้ ทรัมป์ยังอาจใช้ไพ่ใบนี้ต่อรองกับรัสเซียให้ยุติสงครามได้เช่นกัน นอกจากการคว่ำบาตรที่ทำมาในสมัยไบเดน
การที่ทรัมป์ยอมแปลกแยกในเวทีโลก โดยเฉพาะการถอนตัวจาก Paris Agreement คงไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่เขาคงวางหมากไว้แล้วว่าจะใช้น้ำมันเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญในสงครามการค้ารอบใหม่นี้ ในส่วนของไทย
แม้จะยังไม่แน่ว่าจะถูกบีบให้ซื้อน้ำมันจากสหรัฐมากขึ้นหรือไม่ แต่ผู้ประกอบการไทยคงต้องเตรียมกลยุทธ์และทางหนีทีไล่กันแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะมีอย่างต่อเนื่องในยุค Trump 2.0 ครับ