
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ประเมินจีดีพีไทยปี’68 ฟื้นตัวต่อเนื่อง โต 2.8% มอง กนง.มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี จับตา “สงครามการค้า” กดดันบาทพลิกกลับมาอ่อนค่า 35 บาทต่อดอลลาร์ช่วงกลางปี’68 ย้ำขยับเพดานหนี้ ต้องมีแผนลดขาดดุลชัดเจน
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารประเมินอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2568 อยู่ที่ 2.8% มองเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าไม่สูงเท่าที่กระทรวงการคลังประเมิน 3% หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ที่ 2.9% เนื่องจากยังต้องติดตามสถานการณ์การบริโภคในประเทศ หนี้ครัวเรือน เซ็กเตอร์รถยนต์ และโครงการดิจิทัลวอลเลต เฟส 3 ที่จะมีเม็ดเงินค่อนข้างสูง 1.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 1% ของจีดีพี ในไตรมาสที่ 2/68
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีเสียงให้ ธปท. ปรับลดดอกเบี้ยจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ และอัตราเงินเฟ้อต่ำอยู่ในขอบล่าง 1-3% แต่ธนาคารคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาส 80% จะ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0
โดยมองว่าการประชุม กนง.รอบนี่ จะเป็นการประชุมระหว่างทางไม่ได้มีการปรับประมาณการ เนื่องจากดูการส่งสัญญาณ ธปท.ไม่ได้ส่งสัญญาณจะมีการปรับลดดอกเบี้ย เพราะมองว่าเงินเฟ้อไม่ได้เป็นอุปสรรค และต้องการเก็บขีดความสามารถในการดำเนินนโยยกบาารเงิน (Policy Space) และจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน 2568 จาก 2.25% เหลือ 2.00% ต่อปี
ขณะเดียว จะเห็นว่าแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนและเคลื่อนไหวค่อนข้างเร็วกว่าภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปี 2568 อ่อนค่าเร็วอยู่ที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ และล่าสุดอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าเร็ว ทำให้มีคนสนับสนุนให้ กนง.ลดดอกเบี้ยรอบนี้ อย่างไรก็ดี ธนาคารมองว่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่าต่อ เนื่องจากสงครามการค้า (Trade War) ยังไม่ได้หายไป และราคาทองคำ และจ่ายเงินปันผล ทำให้กลางปีหรือไตรมาสที่ 2/68 เงินบาทกลับมาอ่อนค่า 35.00 บาทต่อดอลลาร์ และปลายปีจะกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากท่องเที่ยวที่เข้ามา
สำหรีบประเด็นสงครามการค้า (Trade War) รอบนี้ค่อนข้างยากกว่า Trump 1.0 เนื่องจากมีการปรับภาษีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหากมีการขึ้นภาษีกับจีน จะทำให้จีนที่กำลังฟื้น จะสะดุดได้ และจะกระทบไทยทางอ้อม โดยภาษีรอบนี้ขึ้นแบบ Universal และเริ่มทุก Trading Partner ในเดือนมีนาคม ซึ่งเริ่มจากเหล็กและอะลูมิเนียม และถัดไปจะเป็น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเวชภัณฑ์ ดังนั้น จึงเป็นที่มาต้องระมัดระวังกับค่าเงินบาทในช่วงกลางปีที่จะกลับมาอ่อนค่าได้
“จีดีพีปีนี้เราให้ 2.8% ไม่ได้ Nagative เรามองฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจีดีพีที่ออกมาน้อยกว่าคาด แต่จะเห็นว่าปี’67 ออกมาโต 2.5% ซึ่งโตดีกว่าปี’66 อยู่ที่ 2% และหากเทียบไตรมาสที่ 4/67 ออกมา 3.2% ก็ดีกว่าไตรมาสที่ 3/67 ที่โต 3% เราจึงมองกลาง ๆ ปีนี้โตเกือบ 3% จึงมี Noise ให้ ธปท.ลดดอกเบี้ย แต่เราคิดว่าจะคงดอกเบี้ย ส่วนจีดีพี 2.8% หลังมีสงครามการค้า มองว่าเราจะคงที่เดิมหรือจะปรับลง“
ดร.ทิม กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นการขยับเพดานหนี้สาธารณะนั้น มองว่า จากนโยบายดิจิทัลวอลเลต เฟส 3 วงเงินค่อนข้างใหญ่ 1.4 แสนล้านบาท ทำให้จะเห็นการขาดดุลคงค้าง 3-4% ของจีดีพี ส่งผลให้หนี้สาธารณะไม่ลง 2-3 ปีข้างหน้า และมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่จะมีโอกาสยกเพดานหนี้สาธารณะจาก 70% ซึ่งแนวคิดธนาคารหลังจากทำดิจิทัลวอลเลต และกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมีแผนลดขาดดุลอย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติอยากเห็น
“โครงการดิจิทัลวอลเลต เราเข้าใจรัฐบาลที่จะทำ เพราะต้องการสร้าง Buffer ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกไม่นิ่ง โดยทำมาแล้ว 2 เฟส แม้ว่าผลอาจจะไม่มาก เพราะคนส่วนใหญ่เอาเงินไปใช้หนี้ แต่เฟส 3 เป็นไซซ์ใหญ่ 1.4 แสนล้านบาท จะเกิดขึ้นไตรมาสที่ 2/68 ต้องมอนิเตอร์ต่อว่าเป็นอย่างไร”