
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/2) ที่ระดับ 33.53/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 33.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีดอลลาร์ที่ปรับตัวอ่อนค่ามาที่ระดับ 106.34 หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยเอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือน ม.ค.
โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐถึงแม้ว่าจะเป็นการขยายตัวในอัตราที่ช้ากว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนจากระดับ 51.2 ในเดือน ม.ค. แต่ในด้านของดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 49.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 25 เดือน จากระดับ 52.9 ในเดือน ม.ค. ภาพรวมดัชนี PMI ของสหรัฐได้รับแรงหนุนจากภาคการผลิตแต่กลับได้รับแรงกดดันจากภาคบริการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตได้ช้ากว่าที่มีการคาดการณ์ไว้
ในด้านผู้บริโภค มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ตกลงมาสูระดับ 64.7 ในเดือน ก.พ. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 67.8 จากระดับ 71.1 ในเดือน ม.ค. ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ม.ค.ที่ระดับ 3.3%
นอกจากนี้สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองลดลง 4.9% สู่ระดับ 4.08 ล้านยูนิตในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.12 ล้านยูนิต โดยยอดขายบ้านมือสองได้รับผลกระทบจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองและราคาบ้านที่สูงขึ้น 4.8% เมื่อเทียบรายปี ภาพรวมยอดขายบ้านเพิ่มขึ้น 2.0% ในเดือน ม.ค. สต๊อกบ้านในตลาดเพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 1.18 ล้านยูนิต
ด้านปัจจัยภายในประเทศ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มฯ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน ม.ค. 68 อยู่ที่ 62,321 คัน ลดลง 28.13% จากเดือน ม.ค. 67 โดยมีมูลค่าการส่งออก 41,445.30 ล้านบาท ลดลง 31.57%
นายสุรพงษ์ ให้เหตุผลว่าเนื่องจากความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่สหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีการตอบโต้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าจีนราคาถูกมาแข่งขันมากขึ้นในประเทศคู่ค้า และรถยนต์ส่งออกบางรุ่นกำลังจะเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ และเดือนธันวาคมมีวันหยุดมาก บางบริษัทเปิดทำการช้าในเดือนมกราคมจึงผลิตได้น้อย ทำให้เดือนมกราคมมีรถส่งออกได้น้อย ทั้งตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลาง และอเมริกาใต้
นอกจากนี้ทางสำนักข่าวรอยเตอร์ได้เผยแพร่ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ในวันนี้ (24 ก.พ.) ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ในการประชุมวันที่ 26 ก.พ.นี้ และอาจปรับลดเพียงครั้งเดียวในปี 2568 เพื่อรักษาพื้นที่นโยบายในการรับมือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ผลสำรวจระหว่างวันที่ 14-21 ก.พ. พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ 16 จาก 26 คน หรือว่า 60% คาดว่า ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ขณะที่อีก 10 คน คาดว่าจะลดลง 0.25%
ด้านแนวโน้มระยะยาว นักเศรษฐศาสตร์ 17 จาก 23 คน คาดว่า ธปท.จะลดดอกเบี้ย 0.25% ลงมาอยู่ที่ 2.00% ภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ โดยมี 2 คน คาดว่าจะลดลงไปอยู่ที่ 1.75% และอีก 4 คนว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสียงจากอุปสงค์ที่ลดลงของจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญ และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ที่อาจกระทบภาคการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทย ทั้้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.33-33.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 33.49/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/2) ที่ระดับ 1.0503/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 1.0469/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นของยูโรโซน ซึ่งจัดทำโดย S&P Global อยู่ที่ระดับ 50.2 ในเดือน ก.พ. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ม.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 50.5
จึงทำให้ภาพรวมกิจกรรมทางธุรกิจของยูโรโซนในเดือน ก.พ. ยังคงขยายตัวที่ระดับต่ำ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลงต่อเนื่องและในอัตราเร็วขึ้น ขณะที่การขยายตัวเล็กน้อยของภาคบริการ ไม่เพียงพอที่จะช่วยชดเชยการหดตัวที่ยาวนานของภาคการผลิต จึงทำให้ค่าเงินยูโรมีท่าทีอ่อนค่าในวันศุกร์ (21/2)
นอกจากนี้เมื่อวันอาทิตย์ (23/2) ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งทั่วไปในเยอรมนี ปรากฏว่าพรรคอนุรักษ์นิยม (CDU/CSU) คว้าชัยชนะ ไปด้วยคะแนน 28.52% อันดับรองลงมาคือพรรคขวาจัด (AfD) ที่ได้คะแนนที่ 20.6% ในขณะที่พรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) ได้ 16.4%
การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ที่ 84% ซึ่งถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 โดยผลคะแนนชี้ว่า ฟรีดริช แมร์ซ (Friedrich Merz) หัวหน้าพรรค CDU/CSU) ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมฝ่ายค้าน จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของเยอรมนี
สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปหลังจากนี้คือการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าพรรค CDU/CSU จะได้คะแนนนำหน้าพรรคอื่น ๆ พอสมควร แต่ก็ยังไม่ถึงส่วนแบ่งคะแนนที่พรรคคาดไว้ ทำให้ในการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของพรรคยังคงมีอุปสรรค
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวกรอบระหว่าง 1.0471-1.0518 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0471/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/2) ที่ระดับ 148.94/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 150.43/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายคาซูโอะ อูเอดะ มีความพร้อมที่จะดึงพันธมิตรบัตรรัฐบาลกลับเพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล โดยการกระทำนี้รั้งไม่ให้ค่าเงินเยนยังคงแข็งค่าไปมากกว่านี้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 148.97-149.66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 149.65/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ Conference Board (25/2), ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (27/2) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (27/2), ดัชนีราคารายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (28/2) ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศออสเตรเลีย (26/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นต้นของประเทศเยอรมนี (28/2), ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศแคนาดา (28/2)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.1/-5.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ