
วิจัยกรุงศรี ประเมินมาตรการทางการคลังครึ่งปีแรกปี 2568 เม็ดเงิน 2.6 แสนล้านบาท หรือ 1.4% ของจีดีพี หนุนเศรษฐกิจโตจำกัด หลังบริโภคอ่อนแอ-ลงทุนเอกชนซบเซา-สินเชื่อหดตัว คาด กนง.ทบทวนลดดอกเบี้ยรอบนี้ 26 ก.พ.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า มาตรการทางการคลังอาจให้ประสิทธิผลเชิงบวกจำกัด ส่วนการผ่อนคลายนโยบายการเงินอาจช่วยประคองแรงส่งของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 จาก 4 โครงการเศรษฐกิจที่สำคัญจะก่อให้เกิดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 260,050 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการโอนเงิน 10,000 บาทให้กับผู้สูงอายุที่ผ่านเกณฑ์ วงเงินถึงปัจจุบัน 28,250 ล้านบาท
2.โครงการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านมาตรการลดหย่อนภาษี (Easy E-Receipt) คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนกว่า 70,000 ล้านบาท 3.โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน (SML) จัดสรรจากงบประมาณปี 2568 จำนวน 11,900 ล้านบาท และ 4.โครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านระบบดิจิทัล (มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 3) คาดว่าจะดำเนินการในช่วงไตรมาส 2 วงเงินราว 160,000 ล้านบาท
วิจัยกรุงศรีประเมินแม้จะมีเม็ดเงินสูงกว่า 2.6 แสนล้านบาท (คิดเป็น 1.4% ของ GDP) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีก็ตาม แต่ประสิทธิผลของแต่ละโครงการอาจมีผลเชิงบวกจำกัด
สะท้อนจากการดำเนินโครงการแจกเงินสด 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบางวงเงินราว 1.4 แสนล้านบาท (0.8% ของ GDP) โดยเริ่มแจกตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา พบว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วเติบโต +3.4% YOY ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า (+3.3%) และชะลอลงมากจาก +6.6% ใน 1Q67 และหากพิจารณาการเติบโตแบบ QOQ กลับขยายตัวเพียง +0.5% จาก +0.6% ใน 3Q67 และ +1.3% ใน 1Q67 อีกทั้งยังมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง
ดังนั้น การใช้มาตรการทางการคลังด้านเดียวอาจไม่เพียงพอ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นจึงอาจมีความจำเป็น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ การบริโภคอ่อนแอ การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในภาวะซบเซา สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี (-0.4%) จึงมีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินจะพิจารณาทบทวนปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 2% ในการประชุมวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ หากไม่มีการปรับลดรอบนี้ก็ยังมีโอากาสที่จะลดในรอบการประชุมครั้งถัดไปในเดือนเมษายน