“ไอแบงก์” เร่งหาพันธมิตรใหม่ เจรจาดึงเพิ่มทุน-คลังลดสัดส่วนถือหุ้น

“ไอแบงก์” เริ่มเดินหน้าหาพันธมิตรร่วมทุนรอบใหม่

“ไอแบงก์” เริ่มเดินหน้าหาพันธมิตรร่วมทุนรอบใหม่ แก้ปมเงินกองทุนติดลบ-ขาดทุนสะสม หลัง ครม.มีมติให้ดำเนินการ-คลังยันไม่เพิ่มทุน “ทวีลาภ” ชี้ผู้ร่วมทุนใหม่ต้องเข้าเกณฑ์คุณสมบัติ 3 ด้าน ระบุได้ข้อสรุปช้าหรือเร็วขึ้นกับกระทรวงการคลัง

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธนาคารได้เริ่มดำเนินการขั้นตอนการแสวงหาพันธมิตรร่วมทุนแล้ว หลังจากกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งมา ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการเรื่องนี้ โดยที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยกับผู้ที่สนใจ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีกี่ราย และกรอบเวลาแล้วเสร็จ เนื่องจากอยู่ที่การเจรจา และการตัดสินใจของกระทรวงการคลัง

“การพิจารณาคุณสมบัติของพันธมิตรร่วมทุน นอกจากความเหมาะสม และเป็นไปตามหลักกฎหมายของการตั้งธนาคารอิสลาม จะต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อหลัก คือ 1.จะต้องเป็นสถาบันการเงินที่จะทำให้ธนาคารอิสลามแข็งแรงและแข็งแกร่งขึ้น มีความรู้และความเชี่ยวชาญตามหลัก ‘ชะรีอะฮ์’ หรือกฎหมายอิสลาม

2.เป็นสถาบันการเงินที่มีความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยี และนำความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีมาช่วยธนาคารอิสลาม และ 3.จะต้องส่งเสริมกลไกของภาครัฐ โดยเป็นธนาคารที่ให้บริการในพื้นที่สำคัญ เช่น ภาคใต้ และชาวมุสลิม รวมถึงเป็นธนาคารทางเลือกกับลูกค้าทั่วไป”

สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นนั้น จะขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังเป็นผู้ตัดสินใจ อย่างไรก็ดี พันธมิตรร่วมทุนจะต้องมีฐานการเงินที่แข็งแกร่ง และสามารถฟื้นฟูธนาคารอิสลามสามารถเดินหน้าได้ และยังคงความเป็นธนาคารอิสลาม ซึ่งหากมองผู้ที่แข็งแกร่งด้านอิสลาม และเครือข่ายการเงินอิสลามจะอยู่ในภูมิภาค จึงเป็นไปได้ว่าพันธมิตรร่วมทุนจะมาจากต่างประเทศ

“กรอบการดำเนินงานภายในปีนี้ ตอนนี้เราเริ่มดำเนินการแล้ว แต่จะจบช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับการเจรจาและการตัดสินใจของกระทรวงการคลัง ซึ่งการมองหาพันธมิตรร่วมทุนครั้งนี้ เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะสร้างความแข็งแรงให้กับธนาคารอิสลาม เติมความเชี่ยวชาญและความรู้ต่าง ๆ รวมถึงภาระของภาครัฐก็ลดลงด้วย ซึ่งเป็นนโยบายที่มีประโยชน์”

ADVERTISMENT

นายทวีลาภกล่าวว่า แผนการสรรหาพันธมิตรร่วมทุนของธนาคารอิสลาม มีมาตั้งแต่ปี 2557 แต่สถานะของธนาคารในเวลานั้นยังไม่มีความพร้อม แต่ปัจจุบันสถานะของธนาคารในปี 2567-2568 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งความสามารถในการทำกำไร และแผนการดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่งสถานะธนาคารในปัจจุบันอยู่ในจุดที่สามารถดำเนินการตามแผนได้

ดังนั้น จึงมีการเสนอ ครม.อนุมัติหลักการ และกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งมายังธนาคารอิสลามให้ดำเนินการแสวงหาพันธมิตรร่วมทุน

ADVERTISMENT

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2568 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการสรรหาพันธมิตรร่วมลงทุนของไอแบงก์ โดยสรรหาพันธมิตรร่วมลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม เพื่อเข้าร่วมลงทุนในไอแบงก์

โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และให้ความสำคัญกับการให้บริการในทุกพื้นที่ที่มีชาวไทยมุสลิม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับไอแบงก์ในการให้บริการทางการเงินที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม รองรับความต้องการของชาวไทยมุสลิมได้อย่างยั่งยืน

“ตามแผนกระทรวงการคลังจะไม่เพิ่มทุนในไอแบงก์ โดยการสรรหาพันธมิตรร่วมลงทุนจะต้องไม่ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังต่ำกว่า 10% ในช่วง 1 ปี นับจากวันที่การสรรหาพันธมิตรร่วมลงทุนเสร็จสมบูรณ์ และพันธมิตรร่วมลงทุนจะต้องมีข้อเสนอเกี่ยวกับการดูแลพนักงาน
ไอแบงก์ที่เหมาะสมและเป็นธรรม”

สำหรับฐานะการเงินของไอแบงก์ ที่มีรายงานล่าสุด จนถึงไตรมาส 3 ปี 2567 พบว่า ธนาคารขาดทุนสะสมถึง 20,994 ล้านบาท ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) อยู่ที่ 17.23% หรือหนี้คงค้างที่ 12,222 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็น NPF ส่วนที่เป็น Non-มุสลิมถึง 9,054 ล้านบาท ส่วนของเจ้าของ -2,791 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BI Ratio) อยู่ที่ -4.51%