Food for Thought ลายแทงแห่งความรวย (2)

คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
ผู้เขียน : พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่)

คงเป็นที่เข้าใจกันแล้วนะครับว่า สินทรัพย์ในความหมายของเราคือ สินทรัพย์ที่สามารถสร้างเสริมรายได้ให้กับเราเพื่อให้มันโตต่อไปได้อีก ไม่ใช่สินทรัพย์ที่เหี่ยวเฉา หรือเสื่อมมูลค่าจนเหลือศูนย์ได้ในอนาคต ซึ่งเราก็ต้องนึกตัดสินใจให้ถูกว่าเราจะเลือกสินทรัพย์แบบไหนมาเก็บไว้

อย่าลืมนะครับว่าเจ้าตัวสินทรัพย์นี้มันเปลี่ยนรูปร่างและมูลค่าได้อยู่เรื่อย ๆ จากเงินสดไปเป็นรถยนต์ แล้วจากรถยนต์ก็แปลงกลับมาเป็นเงินสดได้ (ในมูลค่าที่ลดลงอย่างกับของที่ลดราคาในช่วงนาทีทอง) หรือให้เงินสดเปลี่ยนไปเป็นทอง แล้วทองเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสดในมูลค่าที่ (หวังว่า) สูงขึ้นก็ได้เช่นกัน

“ทำงาน” ต่างกับ “ทำธุรกิจ”

เราลองมาคิดถึงวิธีการจุดประกายแรงขับเคลื่อนในการสร้างสินทรัพย์กันก่อนนะครับ มันมีแค่สองทางเลือกง่าย ๆ ที่จะสร้างสินทรัพย์สำหรับคนเรา นั่นก็คือไป “ทำงาน” เป็นลูกจ้างพนักงานบริษัท (หรือจะไปแบกข้าวสารก็ไม่ว่า) หรือไม่ก็ไป “ทำธุรกิจ” เสียเอง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งในแง่ข้อดีและข้อเสีย

มีแค่สองทางเลือกง่าย ๆ ที่จะสร้างสินทรัพย์สำหรับคนเรา นั่นก็คือไป “ทำงาน” เป็นลูกจ้างพนักงานบริษัท (หรือจะไปแบกข้าวสารก็ไม่ว่า) หรือไม่ก็ไป “ทำธุรกิจ” เสียเอง

ถ้าเลือกทำงานเป็นลูกจ้างก็จะคอยพยายามหางานที่ดี มีความมั่นคงในการได้รับเงินเดือนอยู่ทุกเดือน อย่างค่อย ๆ ไต่ตำแหน่งขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ก็อย่าลืมว่ารายจ่ายที่สำคัญที่สุดของมนุษย์เงินเดือนเหล่านี้ (รวมถึงผมด้วย) ก็คือเจ้าคำว่า “ภาษี”

ดังนั้น มนุษย์เงินเดือนหรือคนทำงานเป็นลูกจ้างก็ควรหาช่องทางเพิ่มเติม เช่นการมีกิจการของตัวเอง หรือนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เงินเราไปทำงานแทนเรา เหมือนเราได้เป็นเจ้าของกิจการด้วยไปในตัว

ADVERTISMENT

และจากประสบการณ์ของผม คนรวยมักจะมองหาช่องทางการลงทุนที่ดี เพื่อเสริมสร้างหรือเน้นที่จะปลูกสินทรัพย์ให้โตขึ้น ในขณะที่ลูกจ้างมักจะมองหางานที่ดี รายได้ที่ดี ที่สามารถให้เงินเดือนก้อนงามแทน แต่ลืมที่จะสร้างสินทรัพย์ต่อไปได้

ลำพังแค่เงินเดือนจากนายจ้างที่ป้อนให้อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเป็นอิสระทางการเงินได้ การเสริมสร้างสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้ต่างหากที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เราเป็นอิสระทางการเงินได้อย่างถูกทาง เช่น การมีกิจการของตัวเอง หรือนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เงินเราไปทำงานแทนเรา เหมือนเราได้เป็นเจ้าของกิจการด้วยไปในตัว

ADVERTISMENT

งานโดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มสินทรัพย์

คนที่ได้รับเงินเดือนประจำก็มีความเป็นไปได้สูงที่หลงติดอยู่กับคำว่า “รายได้ประจำ” จนลืมนึกถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริง ว่าการสั่งสมสินทรัพย์นั้นต่างหากคือหนทางที่ต้องวางเป้าหมายไว้ในใจ (ถ้าอยากจะหลุดวนเวียนของความจน) ดังนั้น ถ้าเลือกที่จะ “ทำงาน” ประจำก็ต้องมีทัศนคติของคนรวย คิดแบบคนรวย และทำแบบคนรวยให้ได้ครับ

วิธีที่ดีที่สุดในการ “ทำงาน” คือการเลือกที่จะคิดแบบที่คนรวยคิด แทนที่จะ “ทำงาน” แบบหวาดกลัวจากการขาดเงิน ขาดรายได้ คนเราจึงไม่ควร “ทำงาน” เพื่อเงินเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้เราหลงไปเน้นแต่เรื่องรายได้ แล้วลืมที่จะไปเพิ่มพูนตัวสินทรัพย์ให้เพียงพอ

จากเท่าที่เห็นมา การมีความรอบรู้ในหลาย ๆ เรื่อง บวกกับความรู้เฉพาะทางสักอย่างสองอย่างถึงจะกำลังเหมาะสม เพราะความรู้เฉพาะทางเทคนิคเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เรารวยได้ ยกตัวอย่างเช่น คนรวยนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องทำอาหารได้อร่อยที่สุด

แต่คนที่ทำอาหารธรรมดาให้ขายได้มากที่สุดต่างหากที่เป็นคนรวยได้ หันกลับมาที่การพัฒนาสินค้าของบริษัทประกัน ซึ่งจะเห็นว่าแอ็กชัวรี่ที่เก่งนั้นก็ไม่ใช่แอ็กชัวรี่ที่สามารถสร้างสินค้าที่ดีที่สุด หากแต่เป็นแอ็กชัวรี่ที่สามารถพัฒนาสินค้าที่ดูธรรมดาให้ขายได้มากที่สุดต่างหาก (แม้ว่าอาจจะไม่ใช่สินค้าที่ดีที่สุดก็ตาม)

บทสรุป

สองทางเลือกง่าย ๆ ที่จะสร้างสินทรัพย์สำหรับคนเราทั่วไป นั่นก็คือไป “ทำงาน” เป็นลูกจ้างพนักงานบริษัท หรือไม่ก็ไป “ทำธุรกิจ” เสียเอง

การ “ทำงาน” หรือ “ทำธุรกิจ” ต่างก็มีข้อดี และข้อเสียของตัวเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การบริหารจัดการภาษี เป็นต้น อีกทั้งลำพังเพียงเงินเดือนก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เป็นอิสระทางการเงินได้ ดังนั้น การเสริมสร้างสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้ต่างหากที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เราเป็นอิสระทางการเงินได้อย่างถูกวิธี

ลักษณะของการ “ทำธุรกิจ” นั้นจะบังคับให้เราพยายามเพิ่มสินทรัพย์ไปเองอย่างไม่รู้ตัวอยู่แล้ว ส่วนคน “ทำงาน” จะต้องระวังเรื่องทัศนคติในการ “ทำงาน” ให้มาก เพราะเมื่อเลือกที่จะ “ทำงาน” ประจำก็ต้องมีทัศนคติของคนรวย คิดและทำแบบคนรวยให้ได้

พนักงานหรือลูกจ้างส่วนใหญ่จะยึดติดกับคำว่า “ความมั่นคง” ในอาชีพ และเงินเดือนซึ่งถือเป็นเพียงผลประโยชน์ที่ได้มาในระยะสั้น แต่ในระยะยาวลูกจ้างควร “ทำงาน” เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ปัญญา และแนวคิดที่จะทำให้สามารถหลุดพ้นจากวัฏสงสารของเงินจนมีอิสรภาพทางการเงินในอนาคต

วิธีการที่ดีสำหรับการเป็นลูกจ้างต้องเริ่มจากการเปลี่ยนกรอบความคิด ทำความเข้าใจในข้อจำกัดของการเป็นลูกจ้างที่รับเงินเดือนประจำ จากนั้นอย่าลืมว่าการคิดแต่เรื่องค่าจ้างจะทำให้ปิดโอกาสในการค้นหาตัวเองจากไอเดียใหม่ ๆ ในทางกลับกันถ้าจับจุดถูกโดยเน้นที่การสั่งสมสินทรัพย์ และความคิดที่ไม่ได้ไปผูกติดกับรายได้ประจำ คุณอาจจะเป็นคนรวยอีกคนหนึ่งที่สามารถมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ที่คนอื่นยังมองไม่เห็นได้