
เปิดผลประกอบการ ICHITAN ปี 2567 ทำยอดขายรวม 8,594.4 ล้านบาท ตลาดในประเทศยังเติบโตต่อเนื่อง ‘น้ำด่าง’ ดาวรุ่งใหม่ เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 86% เตรียมขอไฟเขียว จ่ายปันผลครึ่งปีหลัง หุ้นละ 0.50 บาท เผยแผนปี’68 เพิ่มไลน์ผลิตใหม่ ตั้งเป้าผลิต 1,700 ล้านขวด ยอดขายแตะ 9,500 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2567 โดยมียอดขาย 8,594.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8% จากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 8,049.9 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากการขายในประเทศ 8,094 ล้านบาท และรายได้จากการขายต่างประเทศ 500.4 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนขายอยู่ที่ 6,382.2 ล้านบาท เมื่อหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้มีกำไรสุทธิ 1,306.3 ล้านบาท
ICHI ระบุว่า ปี 2567 ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 9.6% เนื่องจากตลาดชาพร้อมดื่ม ชาสมุนไพร และน้ำด่างมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนยอดขายต่างประเทศลดลง 25.0% จากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสินค้า OEM เพื่อการส่งออกในบางช่วงเวลา และปัญหากำลังซื้อภายในของประเทศคู่ค้า
ส่วนต้นทุนขายของบริษัทฯ ปี 2567 และ ปี 2566 มีจ๋านวน 6,382.2 ล้านบาท และ 6,163.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนต้นทุนขายต่อรายได้จากการขายเท่ากับ 74.3% และ 76.6% ตามลำดับ บริษัทฯ มีอัตราส่วนต้นทุนขายลดลงเนื่องจากการผลิตสินค้าที่มากขึ้นตามความต้องการของตลาด (Economy of Scale) การปรับสูตรการลดน้ำตาลในบางกลุ่มผลิตภัณฑ์และราคาวัตถุดิบกลุ่มบรรจุภัณฑ์ปรับตัวลดลง
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ ICHI กล่าวว่า ปี 2567 เป็นก้าวสำคัญที่พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโต และแสดงถึงความเป็นนักสู้ของอิชิตัน ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1,306.3 ล้านบาท เติบโต 18.7% ของรายได้จากการขายรวมในปี 2567 ที่ทำได้ 8,594.4 ล้านบาท เติบโต 6.8%
สะท้อนความเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มอย่างมั่นคง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ภายใต้แบรนด์ อิชิตัน กรีนที ที่เดินหน้าเติบโต พร้อมด้วยแบรนด์อื่น ๆ และผลิตภัณฑ์กลุ่ม non-Tea ที่ยังรักษาอัตราการเติบโตได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะน้ำด่างอิชิตันเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มขึ้น 86.54% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ขณะเดียวกัน ด้วยการวางแผนการผลิตอย่างรัดกุม สามารถรักษาอัตราการเดินเครื่องจักรเฉลี่ยทั้งปี 76% ประกอบกับการบริหารต้นทุนการผลิตอย่างเข้มข้น ส่งผลความสามารถการทำกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 25.7% ส่งผลให้กำไรสุทธิประจำปี 2567 มากถึง 1,306.3 ล้านบาท เติบโต 18.7%
แม้ว่าในไตรมาส 4/2567 จะมีรายการพิเศษบันทึกปรับปรุงภาษีด้วยผลกระทบจากความแตกต่างทางภาษีของเงินลงทุนในการร่วมค้า 62.9 ล้านบาท และภาษีงวดก่อนที่บันทึกสูงไป 1.5 ล้านบาท (ซึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว) และไม่ได้ส่งผลต่อการดำเนินงานแต่อย่างใด
ส่วนแผนดำเนินงานในปี 2568 ICHI จะเดินหน้ารักษาอัตราการเติบโตให้ได้ต่อเนื่อง จากศักยภาพการผลิตที่แข็งแกร่ง หลังติดตั้งเครื่องจักรไลน์การผลิตใหม่เพิ่ม โดยปัจจุบัน ICHI มี 8 ไลน์การผลิต ผลิตสินค้าได้ 1,700 ล้านขวดต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการในการออกสินค้าใหม่ และรองรับดีมานด์ของลูกค้า OEM ที่มีอยู่อย่างเต็มที่
ขณะที่ ‘น้ำด่างอิชิตัน’ จะเป็นสินค้าที่เติบโตโดดเด่นในกลุ่มสินค้าน็อน-ที โดยเฉพาะช่องทางขาย E-commerce ที่ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ทั้งหมดเพื่อสนับสนุนเป้าหมายปี 2568 แตะ 9,500 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเห็นชอบเสนอการจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด จากงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2567 จากกำไรสุทธิและกำไรสะสมในอัตรา 0.50 บาทต่อหุ้น (ทั้งนี้ เงินปันผลสำหรับงวดดังกล่าว จะยังไม่มีความแน่นอนจนกว่าจะได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568) โดยกำหนดวันปิดสมุดพักการโอนหุ้นเพื่อกำหนดสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 10 มีนาคม 2568 และจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 นี้
โบรกเกอร์มอง ปี’68 กำไร 1.4 พันล้านบาท
บล.ทิสโก้ วิเคราะห์ว่า กำไรสุทธิของ ICHI ในปี 2024 อยู่ที่ 1,306 ล้านบาท +19% YoY หากไม่รวมรายการพิเศษจากการขายไลน์ผลิต UHT กำไรปกติจะเพิ่มขึ้น 16%YoY อยู่ที่ 1,276 ล้านบาท โดยรายได้รวมอยู่ที่ 8.6 พันล้านบาท + 7%YoY ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นหลักจากการออกสินค้าใหม่เครื่องดื่มชาเขียว และกลุ่ม non-tea ที่เพิ่มขึ้น
สำหรับยอดส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้า OEM เนื่องจากกำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ บริษัทจึงเน้นผลิตสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น อัตราทำกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากอัตรากำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามยอดขาย การปรับสูตรลดน้ำตาล และราคาแพ็กเกจจิ้งที่ลดลง
ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการ 1Q25F บล.ทิสโก้ คาดจะอ่อนตัว YoY จาก อัตราทำกำไรที่ลดลงจากคาดรายได้สัดส่วน OEM ที่เพิ่มขึ้นหลังเริ่มไลน์ผลิตใหม่ การบันทึกค่าเสื่อมที่เพิ่มขึ้น แต่คาดเพิ่มขึ้น QoQ จากค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าช่วงปลายปี
เราปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2025-26F ลดลงจากคาดเดิม 10% และ 12% ตามลำดับ คาดกำไร 1.4 พันล้านบาท (+7%YoY) และ 1.5 พันล้านบาท (9% YoY) ตามลำดับ คาดรายได้ปี 2025-26F เติบโต 7-8% จากกลุ่มชาเขียวและ non-tea จากการออกสินค้าใหม่ต่อเนื่อง และการขยายกำลังการผลิตรองรับการเติบโต คาดอัตรามาร์จิ้นอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 25% ลดลงเทียบกับปี 2024 อยู่ที่ 25.7% เนื่องจาก product mix ของสินค้า OEM ที่มีอัตรามาร์จิ้นน้อยกว่าสินค้าหลักของบริษัท
สำหรับแนวโน้มราคาวัตถุดิบและแพ็กเกจจิ้งคาดแนวโน้มราคาวัตถุดิบปี 2025F จะลดลง และมีการล็อกราคาทุก ๆ 6 เดือน และจากบันทึกค่าเสื่อมจากไลน์ผลิตใหม่ปีละ 30 ล้านบาท จากการขยายกำลังการผลิต 200 ล้านขวด เป็น 1,700 ล้านขวด งบลงทุน 430 ล้านบาท ดำเนินงาน 4Q24 และคาดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ 6.7-6.8% จากการทำการตลาด