
เงินบาทอ่อนค่า ตลาดจับตาผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (26 ก.พ. 68) ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.66/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (25/2) ที่ระดับ 33.51/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/2) ที่ระดับ 33.50/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าในกรอบเดิมเทียบเงินสกุลหลัก หลังเช้านี้ (25/2) Dollar Index เปิดตลาดที่ระดับ 106.76 สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่าดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ปรับตัวลงสู่ระดับ -0.03 ในเดือน ม.ค. จากระดับ +0.18 ในเดือน ธ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี CFNAI เป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐ จำนวน 85 รายการ ขณะที่นักวิเคราะห์ระบุว่าดัชนี CFNAI ถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดในการประเมินความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ
นอกจากนี้เฟด สาขาดัลลัส ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีชี้วัดกิจกรรมในภาคการผลิตของรัฐเท็กซัสปรับตัวสู่ระดับ -8.3 ในเดือน ก.พ.จากระดับ +14.1 ในเดือน ม.ค. ซึ่งดัชนีมีค่าเป็นลบบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตในรัฐเท็กซัส ในช่วงสัปดาห์นี้นักลงทุนยังคงรอจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือน ม.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ (28/2)
สำหรับดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ด้านปัจจัยภายในประเทศวันนี้ (25/2) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ม.ค. 2568 พบว่าการส่งออกมีมูลค่า 25,277 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า โดยขยายตัวมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะโต 7-8% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,157 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.9% ส่งผลให้ในเดือน ม.ค. ไทยขาดดุลการค้าอยู่ที่ 1,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทยังปรับตัวอ่อนค่าเป็นลำดับต้น ๆ ของภูมิภาคจากการปรับตัวลงของตลาดทุนและแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ โดยตลาดรอจับตาผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธที่ 26 ก.พ. นี้เป็นหลัก ทั้งนี้ระหว่างวันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 33.50-33.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.66/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (25/2) ที่ระดับ 1.0461/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/2) ที่ระดับ 1.0468/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำนักงานสถิติเยอรมนี (Destatis) รายงานในวันนี้ (25/2) ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หดตัวลง 0.2% ในไตรมาส 4/2567 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับประมาณการเบื้องต้น
ทั้งนี้ตลอดทั้งปี 2567 เศรษฐกิจเยอรมนีหดตัวลง 0.2% ซึ่งนับเป็นการหดตัวปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยถือเป็นการถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ซึ่งก่อนหน้านี้ในไตรมาสที่ 3/2567 GDP เยอรมนีเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 0.1% เท่านั้น โดยสาเหตุของการถดถอยทางเศรษฐกิจของเยอรมนีมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากตลาดต่างประเทศ ต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0457-1.0480 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0471/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (25/2) ที่ระดับ 150.21/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/2) ที่ระดับ 149.58/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (25/2) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เปิดเผยดัชนี CSPI (Corporate Services Price Index) ซึ่งเป็นดัชนีราคาบริการระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.1% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปีสอดคล้องกับคาดการณ์ และสูงกว่าเดือนที่แล้วที่เพิ่มขึ้น 3.0% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 149.20-150.30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐและปิดตลาดที่ระดับ 149.53/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของสหรัฐ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ Conference Board (25/2), ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (27/2), จำวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ (27/2), ดัชนีราคารายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (28/2)
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศออสเตรเลีย (26/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นต้นของประเทศเยอรมนี (28/2), ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศแคนาดา (28/2)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.15/-6.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.75/-4.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ