ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ชงต่ออายุ “ลดค่าโอน-จดจำนอง-ปลดล็อก LTV บ้านหลังที่ 2 ทุกราคา”

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ชงรัฐบาลต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง บ้านไม่เกิน 7 ล้านบาท หลังมาตรการเห็นผลชัดเจนในไตรมาส 4 ปี’67 ที่ผ่านมา ยอมรับมีลูกค้าชะลอทำนิติกรรมรอความชัดเจนมาตรการ พร้อมหนุนปลดล็อก LTV บ้านหลังที่สองขึ้นไปทุกระดับราคา

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เสนอให้มีการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง ที่อยู่อาศัยกลุ่มราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ออกไป หลังจากมาตรการได้หมดอายุลงเมื่อสิ้นปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของทางสมาคมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ที่ได้เสนอ

เนื่องจากมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ที่ผ่านมา ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีจำนวน 97,413 หน่วย เพิ่มขึ้น 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส แม้มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศยังลดลง -1.5% แต่ถือเป็นการติดลบในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

“การฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4 ได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ในการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 3 ล้านบาท ส่งผลให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ก่อนสิ้นสุดมาตรการในช่วงสิ้นปี 2567 เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอาคารชุดมีการโอนกรรมสิทธิ์จำนวน 33,361 หน่วย เพิ่มขึ้น 13.9% คิดเป็นมูลค่า 84,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน”

นายกมลภพ กล่าวว่า ขณะนี้ ลูกค้าของ ธอส. มีการชะลอทำนิติกรรม เพื่อรอดูว่าจะมีการต่ออายุมาตรการออกไปหรือไม่ ซึ่งคาดว่าเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล

นายกมลภพ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มในปี 2568 คาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2567 โดยมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประมาณ 353,389 หน่วย เพิ่มขึ้น 1.6% เป็นการโอนอาคารชุดประมาณ 116,618 หน่วย เพิ่มขึ้น 0.2%

ADVERTISMENT

และการโอนที่อยู่อาศัยแนวราบ ประมาณ 236,770 หน่วย เพิ่มขึ้น 2.3% จากปี 2567 ทั้งปีที่การโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ มีจำนวนหน่วย 347,799 หน่วย ลดลง -5.2% เป็นการโอนอาคารชุดจำนวน 116,439 หน่วย เพิ่มขึ้น 7.7% ตามมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนที่อยู่อาศัยแนวราบ มีการโอนจำนวน 231,360 หน่วย ลดลง -10.6% ซึ่งลดลงทุกระดับราคา

“ปี 2568 มีปัจจัยบวกมาจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 ของรัฐบาล และเม็ดเงินจากโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่คาดการณ์จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจในปีนี้อีก 2.6 แสนล้านบาท ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลให้ประชาชนยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น”

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ยังมีข่าวที่ว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับพิจารณาผ่อนปรนมาตรการ LTV ซึ่งหากมีการผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวสำหรับบ้านหลังที่สองขึ้นไป ในทุกระดับราคา ก็จะช่วยกระตุ้นตลาดในปีนี้ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันศูนย์ข้อมูลฯ ยังสนับสนุนให้สถาบันการเงินอื่น ๆ มีการปล่อยสินเชื่อสำหรับบ้านหลังแรกในอัตราดอกเบี้ยต่ำด้วย รวมถึงต้องการให้ปรับปรุงเรื่องสิทธิการเช่าให้มากขึ้นจากปัจจุบันที่ให้เช่าได้ 30 ปีด้วย

นายกมลภพ กล่าวด้วยว่า คาดว่า ปี 2568 จะมีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมูลค่า 593,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% จากปี 2567 ที่หดตัวหนัก -13.4% ซึ่งในส่วนของ ธอส. เองอยู่ระหว่างพิจารณาตัวเลขการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีนี้ ซึ่งเบื้องต้นก็คงปล่อยมากกว่า 2 แสนล้านบาท ในทุกระดับราคาบ้าน เพื่อช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ตามนโยบายของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง