คนไทยว่างงาน 3.6 แสนคน “สภาพัฒน์” ชี้ภาคเกษตรจ้างงานลดลง

คนไทยว่างงาน 3.6 แสนคน สภาพัฒน์ชี้ภาคเกษตรจ้างงานลดลง

สภาพัฒน์เผยอัตราว่างงานขยับขึ้น จ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง คนไทยว่างงาน 3.6 แสนคน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 ปี 2567 ว่าการจ้างงานลดลงเล็กน้อย โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2566 เล็กน้อยที่ 0.4%

ผลมาจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ 3.6% ขณะที่ภาพรวมสาขา นอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ที่ 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะสาขาโรงแรม/ภัตตาคารที่ขยายตัว 9.4% และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้าที่ขยายตัวตามการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

ส่วนสาขาการผลิตขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.3% จากอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่การผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตยานยนต์ และการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี การจ้างงานยังหดตัวลงต่อเนื่อง

สำหรับอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 0.88% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 3.6 แสนคน ซึ่งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อนส่วนใหญ่ออกมาจากสาขาการผลิต และสาขาการขายส่ง/ขายปลีก

และอัตราการมีงานทำ ปี 2567 อยู่ที่ 98.6% ทรงตัวจากปี 2566 โดยจำนวนผู้มีงานทำมีจำนวน 39.8 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากปี 2566 ที่ 0.3%

ADVERTISMENT

นายดนุชาเผยว่า สำหรับประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและให้ความสำคัญ ได้แก่

1) การกีดกันทางการค้าในรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษีจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกและการจ้างงาน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของสหรัฐอเมริกา อีกทั้งไทยยังมีประเด็นด้านการจัดการการค้ามนุษย์ ที่ได้รับการจัดอันดับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในระดับ Tier 2 มาตั้งแต่ปี 2565

ADVERTISMENT

2) การตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างชาติเพื่อป้องกันการทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งแม้ว่าไทยจะมีมาตรการนำเข้าและต่ออายุแรงงานต่างด้าวตาม MOU แต่ยังพบการกระทำผิดของสถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก

และ 3) แรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์จำนวนมากยังไม่ได้ใช้สิทธิลาคลอดเต็มจำนวน

โดยเฉลี่ยใช้เพียง 30-59 วัน จากสิทธิวันลาคลอดทั้งสิ้น 98 วัน เนื่องจากต้องการรายได้/โอทีรวมทั้งการกลัวถูกลดโบนัส แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะสนับสนุนให้บุตรได้ทานนมแม่ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือนก็ตาม

นอกจากนี้ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง

ในไตรมาส 3 ปี 2567 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.34 ล้านล้านบาท ขยายตัว 0.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งการชะลอตัวดังกล่าว ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ปรับลดลงมาอยู่ที่ 89.0%

ซึ่งการปรับลดลงของสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ไม่ได้สะท้อนถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ลดลง แต่เกิดจากการชะลอตัวของหนี้ครัวเรือนเมื่อเทียบกับอัตราขยายตัวของ GDP ดังนั้นหากหนี้สินครัวเรือนและ GDP ขยายตัวในอัตราที่ต่ำทั้งคู่ต่อไป จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในระยะถัดไป

ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง โดยมูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป (NPLs) ในฐานข้อมูลเครดิตบูโร มีจำนวน 1.16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8.46% เพิ่มขึ้นจาก 8.01% ของไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อเพื่อการเกษตร

นอกจากนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่

1) การประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ขนาดเล็ก จำนวน 2.1 ล้านบัญชี 1.9 ล้านราย แต่ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมไม่มาก

2) การสร้างความตระหนักรู้ทางการเงิน เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อจากภัยการเงิน เนื่องจากปัจจุบันพบมิจฉาชีพหลอกหลวงผ่านคำโฆษณาชวนเชื่อ อาทิ “ปิดหนี้ให้” “ไม่คิดดอก” “ดอกต่ำมาก” หรือเข้ามาช่วยปิดหนี้ให้แล้วชักชวนลงทุน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อลูกหนี้เป็นจำนวนมาก

และ 3) การติดตามความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาหนี้ของลูกหนี้รายย่อย ให้สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้สิน โดยการเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยหนี้กับเจ้าหนี้หลายรายในคราวเดียว ซึ่งจะช่วยลดจำนวนลูกหนี้ที่จะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องล้มละลายและถูกยึดทรัพย์

นอกจากนี้ นายดนุชากล่าวว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังในไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2567 เพิ่มขึ้น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้น และต้องให้ความสำคัญกับอัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปีที่เพิ่มขึ้น และสูงเกินค่าเป้าหมาย

รวมถึงไตรมาส 4 ปี 2567 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น 27.6% จากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ถึง 1.5 เท่า เนื่องจากมีการระบาดต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 4 สำหรับในภาพรวมปี 2567 พบผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2566 31.8% โดยเป็นผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สูงที่สุด

ขณะที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2567 เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม นายดนุชากล่าวว่า มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือ การจำหน่ายขนมที่ออกแบบบรรจุภัณฑ์คล้ายบุหรี่ไฟฟ้า การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนผสมของสารเสพติดและสารอันตราย รวมทั้งการจูงใจให้ดื่มด้วยเงินหรือรางวัล

ทั้งนี้ การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขณะที่การร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลดลง