หุ้นกลุ่ม ปตท. 8 บริษัท ปิดปี’67 กำไรรวม 1.55 แสนล้าน ลดลง 29%

หุ้นกลุ่ม ปตท. 8 บริษัท ปิดปี’67 กำไรรวม 1.55 แสนล้าน ลดลง 29%

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยของกลุ่ม ปตท. ได้ทยอยประกาศงบการเงินประจำปี 2567 ออกมาทั้งหมดแล้วจำนวน 8 บริษัท โดยพบว่า มีกำไรสุทธิ 155,298 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 29.67% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ประกอบด้วย

  • PTT มีกำไรสุทธิ 90,072 ล้านบาท ลดลง 19.6%
  • PTTEP มีกำไรสุทธิ 78,824 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.76%
  • TOP มีกำไรสุทธิ 9,959 ล้านบาท ลดลง 48.77%
  • OR มีกำไรสุทธิ 7,650 ล้านบาท ลดลง 31%
  • GPSC มีกำไรสุทธิ 4,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%
  • GGC มีกำไรสุทธิ -256 ล้านบาท ลดลง 31%
  • IRPC มีกำไรสุทธิ -5,193 ล้านบาท ลดลง 78%
  • PTTGC มีกำไรสุทธิ -29,811 ล้านบาท ลดลง 3,084%

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT สรุปสาระสำคัญของงบการเงินปี 2567 ว่า ในปี 2567 ปตท.และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 396,234 ล้านบาท ลดลง 30,661 ล้านบาท หรือลดลง 7.2% YOY โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น

โดยธุรกิจการกลั่นมีผลการดำเนินงานลดลง จาก market GRM ที่ลดลง ประกอบกับมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันสุทธิกับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2567 ปตท.และบริษัทย่อยมีผลขาดทุนประมาณ 13,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2566 เป็นขาดทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธุรกิจปิโตรเคมีมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ และปริมาณขายที่ปรับตัวสูงขึ้น

กลุ่มธุรกิจก๊าซมีผลการดำเนินงานลดลงจากธุรกิจโรงแยกก๊าซ จากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเริ่มนโยบาย single pool แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซ รวมถึงธุรกิจ NGV มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากต้นทุนค่าเนื้อก๊าซปรับลดลงตามราคา pool gas รวมทั้งธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซ มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากปริมาณการจองใช้ท่อส่งก๊าซที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกค้า

กลุ่มธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกมีผลการดำเนินงานลดลง จากกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรและปริมาณขายเฉลี่ยที่ลดลง โดยหลักจากน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นตามที่กล่าวข้างต้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้น

ADVERTISMENT

อีกทั้งในปี 2567 มีการรับรู้รายการ nonrecurring items สุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท. เป็นขาดทุนประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยหลักจากการด้อยค่าประมาณการค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตของกลุ่มบริษัท Vencorex และ PTTAC ของ GC ประมาณ 10,500 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2566 มีการรับรู้รายการ nonrecurring items สุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท. เป็นกำไรประมาณ 300 ล้านบาท โดยหลักจากการขายสัดส่วนการลงทุนในโครงการ Cash-Maple ของ PTTEP

บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มอง neutral ต่อข้อมูลจากการประชุมนักวิเคราะห์ PTT แม้เป้าธุรกิจระยะยาวเป็นเชิงรุกมากขึ้นในขาของความพยายามลดต้นทุน ซึ่งหากทำได้ตามเป้าของผู้บริหารจะมีโอกาสสร้าง upside ต่อประมาณการของเรา (เรามอง EBITDA ในช่วงปี 2568-2569 เพิ่มราว 1 หมื่นล้านบาท)

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม เรามองความท้าทายคือการ optimize asset ของธุรกิจปิโตรเคมีที่ส่งให้ค่าใช้จ่ายคงที่ลดลง และการฟื้นตัวของ product spread จะเพียงชดเชยกับอัตรากำไรที่ลดลงของธุรกิจสำรวจ (E&P) จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงสู่ระดับปกติต่อเนื่องในปี 2568-2569 (บริษัทมองราคาน้ำมันดิบลดลงเช่นกัน) คงคำแนะนำ neutral ที่ราคาเป้าหมาย 32.50 บาท/หุ้น

คงมุมมองปี 2568 ตัวเร่งจำกัดจากกำไรที่เพียงทรงตัว YOY การฟื้นของธุรกิจก๊าซและปิโตรเคมีเพียงชดเชยกำไรที่ลดลงของบริษัทลูกอย่าง PTTEP คาดกำไรปกติปี 2025-2026 โตเฉลี่ย 2% CAGR ในขณะที่บริษัทยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ แต่ในระยะสั้น PTT มีแรงหนุนจากปันผลครึ่งปีหลัง 2567 ราว 1.30 บาท/หุ้น มีอัตราผลตอบแทนเงินปันผล 4% โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 6 มี.ค. 2568 และจ่ายปันผลวันที่ 29 เม.ย. 2568

สำหรับ key takeaway ในการประชุมนักวิเคราะห์คือ 1.คงแผนกลยุทธ์มุ่งลดค่าใช้จ่าย และปรับโครงสร้างธุรกิจภายในเครือ โดยสำหรับธุรกิจก๊าซ อยู่ระหว่างเสนอข้อมูลธุรกิจกับภาครัฐ และหาโอกาสเจาะตลาด Out-Out เพิ่ม, ธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีอยู่ระหว่างหา partner ร่วมลงทุน (คาดอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปี) นอกจากนี้จะหาโอกาสร่วมกันสำหรับตลาดในประเทศตั้งเป้าเพิ่ม EBITDA ราว 3.3 พันล้านบาท/ปี ภายใน 3 ปี และส่วนธุรกิจสำรวจ (E&P) มองมีโอกาสเติบโตจากการหาแหล่งใหม่เพิ่ม

2.ตั้งเป้าเพิ่ม EBITDA ราว 3 หมื่นล้านบาทภายในปี 2570 (1 หมื่นล้านบาท ในส่วนของ PTT เอง และ 2 หมื่นล้านบาทของกลุ่มบริษัทลูก) การเพิ่มจะมาจากทั้งการลดต้นทุนการผลิตจากการเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานและการ optimize asset รวมถึงการเพิ่มรายได้จากการลงทุนใหม่และหาตลาดใหม่ นอกจากนี้ผู้บริหารมองการใช้ digital transformation ในการบริหารการผลิตและการขายจะช่วยเพิ่ม EBITDA ราว 2 พันล้านบาท/ปี ภายในปี 2569

3.ปี 2568 ธุรกิจหลักยังมีความท้าทายคือ 1.ธุรกิจ E&P แม้ปริมาณขายจะเติบโตตามการผลิตของแหล่งในประเทศ และคาดสามารถรักษาระดับ unit cost ไว้ได้ แต่ด้าน supply น้ำมันดิบโลกที่ออกมาเพิ่มขึ้นและส่งให้ราคาลดลง (คาด -5% YOY มาที่ 71-81 เหรียญ/บาร์เรล) จะทำให้อัตรากำไรลดลง 2.ธุรกิจก๊าซ ปริมาณขายของโรงแยกมีแนวโน้มฟื้นตัวตามปริมาณก๊าซอ่าว รวมถึงปริมาณใช้ท่อและ tank เพิ่ม แต่ต้องเผชิญกับต้นทุนก๊าซที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก geopolitical risk

ส่งให้ราคา LNG ผันผวน (มอง JKM LMG 12-14 เหรียญ/MMBTU เดิม 11.5-12.5 เหรียญ) และ 3.ธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี ฝั่งโรงกลั่นมีปิดซ่อมใหญ่ทั้ง TOP และ PTTGC มองค่าการกลั่นมีแนวโน้มลดลง YOY ตาม supply ที่ตึงตัวน้อยลง ส่วนปิโตรเคมีมอง product spread เพียงทรงตัว YOY จาก oversupply ยังกดดัน