
เส้นทางดอกเบี้ยจากยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ถึงยุคเศรษฐา-แพทองธาร
ศูนย์ข้อมูลมติชนได้รวบรวมข้อมูลการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในช่วงที่มาจากการรัฐประหาร (2557-2562) และช่วงที่มาจากการเลือกตั้ง (2562-2566) นโยบายการเงิน โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่อยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกใช้อย่างต่อเนื่อง
จนทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ยืนอยู่ระดับ 2.0% ในช่วงก่อนการรัฐประหาร ปรับลงเหลือร้อยละ 1.25 ภายในสิ้นปี 2562 และจากนั้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ปี 2563 หลังข่าวการแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านไปไม่กี่วัน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดดอกเบี้ยแบบทันอกทันใจเหลือ 1%
นับเป็นเรตที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ ตั้งแต่ประเทศไทยมีการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายมา และมีแนวโน้มว่าจะปรับให้ต่ำลงไปอีก ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ โดยในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 กนง.ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยลงมาเหลือ 0.5% และคงอัตรานี้ไว้อีกร่วม ๆ 2 ปี จนในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 จึงเริ่มหันมาปรับดอกเบี้ยขึ้นเป็น 0.75%
8 ใน 9 ปีในการครองอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จึงเป็นช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยอยู่ในขาลง จนกระทั่งในช่วงปีท้าย ๆ ที่ “เงินเฟ้อ” กลายเป็นประเด็นสำคัญของทั้งโลก แบงก์ชาติจึงหันมาใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ
กนง.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง 8 ครั้ง จาก 0.25-2.5% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 จนถึงการประชุมวันที่ 27 กันยายน 2566 โดยเริ่มจาก 0.05% และปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.50% และคงอัตราดังกล่าวไว้ จนถึงเดือนตุลาคม 2567 จึงเริ่มลดลงมาที่ 2.25% หลังจากเสียงเรียกร้องจากรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน และหลังจากใช้มาตรการการคลังเต็มที่แล้ว
และล่าสุด นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำประเด็นนี้ โดยโพสต์ผ่าน X ขอให้แบงก์ชาติพิจารณาลดดอกเบี้ยเพื่อลดให้ภาระประชาชน ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (เอเอ็มเอฟ) ก็สนับสนุนให้ไทยลดดอกเบี้ย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
อย่างไรก็ตาม การที่บอร์ด กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุดนี้ นับว่าเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด เนื่องจากนักวิเคราะห์บางสำนักเชื่อว่า กนง.มีแนวโน้มรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยภายใต้ความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ และไม่น่าจะลดดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ในขณะที่ล่าสุดเฟดกลับเริ่มแสดงท่าทีไม่ลดดอกเบี้ยภายในปีนี้ หลังเผชิญความไม่แน่นอนจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
ประวัติการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน
- วันที่ 8 มิ.ย. 2565 = 0.50%
- วันที่ 10 ส.ค. 2565 = 0.75%
- วันที่ 28 ก.ย. 2565 = 1.00%
- วันที่ 30 พ.ย. 2565 = 1.25%
- วันที่ 25 ม.ค. 2566 = 1.50%
- วันที่ 29 มี.ค. 2566 = 1.75%
- วันที่ 31 พ.ค. 2566 = 2.00%
- วันที่ 2 ส.ค. 2566 = 2.25%
- วันที่ 27 ก.ย. 2566 = 2.50%
- วันที่ 29 พ.ย. 2566 = 2.50%
- วันที่ 7 ก.พ. 2567 = 2.50%
- วันที่ 10 เม.ย. 2567 = 2.50%
- วันที่ 12 มิ.ย. 2567 = 2.50%
- วันที่ 21 ส.ค. 2567 = 2.50%
- วันที่ 16 ต.ค. 2567 = 2.25%
- วันที่ 18 ธ.ค. 2567 = 2.25%
- วันที่ 26 ก.พ. 2568 = 2.00%