
กนง.จ่อปรับประมาณการจีดีพีปี 2568 เหนือระดับ 2.5% จากเดิม 2.9% เหตุเศรษฐกิจชะลอตัวลงหลังภาคการผลิตที่คิดเป็น 20% ของจีดีพียังไม่ฟื้นตัว-เจอปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้านเงินเฟ้อต่ำ แต่ยังไม่สะท้อนถึงภาวะเงินฝืด ย้ำลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ไม่ใช่แรงกดดันทางการเมือง แต่ให้น้ำหนัก 3 ด้านเป็นหลัก ระบุผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ยังอยู่ระหว่างพิจารณา
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) 0.25% จาก 2.25% เหลือ 2.00% ต่อปี ไม่ใช่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง (Easing Cycle) แต่เป็นผลมาจากตัวเลขและข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอลงพอสมควร ซึ่งจากคาดการณ์เดิมที่ประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2568 อยู่ที่ 2.9%
โดย กนง.จะมีการปรับประมาณการตัวเลขจีดีพีใหม่อย่างเป็นทางการภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ โดยคาดว่าจะอยู่เหนือกว่า 2.5%
สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ ไม่ได้มาจากแรงกดดันทางการเมือง และ กนง.ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่การตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ มาจากข้อมูลและตัวเลขที่ได้รับมา (In-Put) ที่มีการแลกเปลี่ยนกันและรับฟังจากภาคส่วนต่าง ๆ โดย กนง.ได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/2567 พบว่า Balance of Risk ได้เปลี่ยนไป จึงเป็นที่มาของการ “ลดดอกเบี้ย” ครั้งนี้
“คณะกรรมการ 1 ท่าน ให้น้ำหนักในเรื่องของขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) เหมือนที่เราสื่อสารมาโดยตลอด เพราะกระสุนเราไม่ได้มีเยอะมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งการพิจารณาในรอบถัดไปจะต้องมีการยกบาร์ที่สูงขึ้น โดยจะดูเรื่องของ Policy Space มากขึ้น เพราะเราได้เสีย Space ไปแล้ว”
ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ คณะกรรรมการได้มีการพูดคุยใน 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.ภาพรวมเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินในเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งมาจากภาคผลิตอุตสาหกรรมที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของจีดีพี พบว่าประมาณ 10% ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่แรงขึ้น และการแข่งขันจากสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงมองไปข้างหน้ายังมีความเสี่ยงจากนโยบายการค้าที่มีความไม่แน่นอนสูง และความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการส่งออกจะเป็นบวก และมีความต้องการซื้อสินค้า แต่จะเห็นว่าไม่ได้มีการผลิตเพิ่ม แต่เป็นการระบายสต๊อกเดิม ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการอาจเห็นความเสี่ยงในระยะข้างหน้า จึงไม่ได้มีการผลิตเพิ่ม รวมถึงมีการนำเข้ามาเพิ่มขึ้น ทำให้ตัวเลขการผลิตออกมาติดลบตั้งแต่ปี 2567 ทำให้เศรษฐกิจจะถูกขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก
2.อัตราเงินเฟ้อ ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในเดือนธันวาคมปี 2567 อยู่ในขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% โดยในปี 2568 อยู่ที่ 1.1% และปี 2569 อยู่ที่ 1.2% ทรงตัวในระดับต่ำ แต่ยังไม่เห็นสัญญาณของปัญหาเงินฝืด เนื่องจากยังเห็นการปรับราคาเพิ่มขึ้น 70-80% และหากดูอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมาจากปัจจัยทางด้านอุปทาน ราคาอาหารสดและพลังงาน ไม่ได้มาจากอุปสงค์ในประเทศ เพราะยังเห็นการเติบโตได้ดีในปีที่ผ่านมา
และ 3.ภาวะการเงิน แม้ยังเห็นการตึงตัวอยู่ แต่เริ่มเห็นสัญญาณทรงตัว โดยสินเชื่อธุรกิจมีการผงกหัวขึ้นในสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังหดตัว -3% ใกล้เคียงเดิม ขณะที่คุณภาพสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และเอสเอ็มอีทรงตัว แต่เอสเอ็มอียังเห็นเพิ่มขึ้นบ้าง ส่วนสินเชื่อรายย่อยปรับดีขึ้น โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) โตชะลอลง แต่เห็นสัญญาณสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งต้องติดตามต่อไป แต่เชื่อว่าการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ จะช่วยได้บ้าง รวมถึงมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” จะเริ่มเห็นผลการลดภาระดอกเบี้ย
“การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ซอฟต์ลง และรองรับความไม่แน่นอนได้ระดับหนึ่ง แต่การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ใช่ Easing Cycle แต่เป็นการประเมินจากข้อมูลใน 3 ด้านที่กล่าวมา ส่วนประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยนั้น จะเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยโตได้ต่ำมาจากภาคอุปทานและการผลิต ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต้องใช้เวลา แต่การลดดอกเบี้ย จะช่วยเรื่องต้นทุนและลดภาระหนี้ธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงต่ำเพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยในระดับนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับ Neutral Rate”
นายสักกะภพกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นการผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) นั้น ตอนนี้ ธปท.ได้มีการพูดคุยอยู่ และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา โดยมีการประเมินประสิทธิผลของการผ่อนคลายและต้นทุนจากการผ่อนคลาย ซึ่งปัจจุบันยังไม่ไฟนอลของเรื่องนี้ว่าจะออกมาอย่างไร