
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH Bank กางแผนปี 68 ตั้งเป้าโตสินเชื่อรวม 7-8% รุกตลาด “เอสเอ็มอี-บ้าน” หวังบริหารพอร์ต-รายได้ หนุน NIM แตะ 2.3% ส่วนหนี้เสียไม่เกิน 3%
นายฉี ชิง-ฟู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH Bank เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2568 ยังคงมีความผันผวนจากเศรษฐกิจโลก และการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะกระทบต่อการแข่งขันของเอสเอ็มอีจากสินค้าจีนที่จะเข้ามาในประเทศมากขึ้น รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่จะมีผลต่อราคาพลังงาน
โดยธนาคารประเมินว่าอัตราการเติบโตจีดีพีในปี 2568 ของไทยจะขยายตัวได้ราว 2.6% มาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีการอนุมัติงบฯลงทุนชัดเจน ภาคท่องเที่ยว และการบริโภคปรับดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการดิจิทัลวอลเลตที่จะมีในช่วงในไตรมาสที่ 2/68 นี้
ทั้งนี้ ธนาคารวางแผนกลยุทธ์ 5 ปี นับตั้งแต่ในปี 2568-2573 มุ่งเน้น 6 ด้าน คือ 1.เพิ่มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) โดยการบริหารการปล่อยสินเชื่อและต้นทุนการเงิน 2.เพิ่มฐานลูกค้า 3.เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม 4.ต่อยอดการขายผลิตภัณฑ์ (Cross-selling) 5.การเติบโตผ่านพันธมิตร (Partner) และ 6.นำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ภายในองค์กรและให้บริการลูกค้า
โดยแผนการดำเนินงานในปี 2568 ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อรวม 7-8% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 2.2-2.3% รายได้รวม 10-15% ส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวม (Cost to Income) ไม่เกิน 50% และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่เกิน 3% และสัดส่วนหนี้ต่อเงินสำรอง (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 170-180%
สำหรับรายละเอียดการเติบโต ธนาคารจะมุ่งเน้นการเติบโตธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในปีนี้ตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อ 10-16% จากยอดสินเชื่อคงค้าง 6 หมื่นล้านบาท จะเน้นทำ Product Program ตอบโจทย์อุตสาหกรรมภาคผลิต ค้าปลีกค้าส่ง และขนส่ง เป็นต้น แม้ว่าธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีความเสี่ยงสูง แต่จะพบว่าเอสเอ็มอีไทยกว่า 90% ยังเติบโตได้ดี ขณะเดียวกัน ธนาคารจะเน้นในกลุ่มที่มีศักยภาพที่มียอดขาย 50-500 ล้านบาท และมีการปล่อยกู้ที่รัดกุม
ขณะที่สินเชื่อรายย่อย จะเน้นในกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อ 20% เน้นกลุ่มบ้านและคอนโดมิเนียมราคา 3-20 ล้านบาท และกลุ่ม 20-50 ล้านบาท รวมถึงบ้านแลกเงิน และรีไฟแนนซ์ ซึ่งคาดว่าการผ่อนคลายเกณฑ์กำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) จะช่วยสนับสนุนการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากธนาคารมีนโยบายดูแลความเสี่ยงรองรับได้ถึง 50 ล้านบาท และด้านอัตราดอกเบี้ยและวงเงินยังคงสามารถในการแข่งขันกับตลาดได้ จากในปี 2567 ขยายตัว 11% สูงกว่าทั้งระบบที่เติบโต 3%
ส่วนสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ ธนาคารตั้งเป้าเติบโต 7% เติบโต 2 เท่าของจีดีพี ซึ่งคาดว่าจะมีโอกาสในการเติบโตจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามาลงทุน เช่น Data Center เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น โดยเฉพาะนักลงทุนจากไต้หวัน ซึ่งมี FDI เป็นอันดับ 4 ถือเป็นโอกาสของธนาคารที่จะเข้าไปสนับสนุนลูกค้า โดยธนาคารตั้งเป้าธุรกรรมระหว่างประเทศ (Trade Finance) ขยายตัว 40%
“ธนาคารต้องการเพิ่ม Balance พอร์ตและสร้างผลตอบแทน มุ่งเน้นสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อบ้านที่มีโมเมนตัม และควบคุมหนี้เสียไม่เกิน 3% แต่ระหว่างทางอาจมีการปรับขึ้นเล็กน้อย เพราะเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง”