
สภาพัฒน์เผยค่าใช้จ่ายต่างด้าวเข้ามารักษาในไทยพุ่ง 9.2 หมื่นล้าน ชี้ครึ่งหนึ่งไม่มีสิทธิรักษา-สถานพยาบาลกุมขมับเรียกเก็บค่ารักษาไม่ได้ เปิดข้อมูลบุคลากรการแพทย์ในจังหวัดตากต้องแบกภาระเพิ่ม จี้ สธ.จัดสรรทรัพยากร ทั้ง “บุคคล-งบประมาณ” ให้สอดคล้องแต่ละพื้นที่ พร้อมเร่งพิสูจน์สิทธิให้ครบถ้วน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบสาธารณสุขของไทยถือเป็นระบบที่มีศักยภาพการรักษาและการให้บริการที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านชายแดน ทำให้มีคนต่างด้าวข้ามแดนเข้ามาใช้บริการการรักษาในไทย ตามสถานพยาบาลที่อยู่ชายแดน
อย่างไรก็ตาม คนต่างด้าวที่เข้ามารักษา จะไม่มีสิทธิในการรักษา ที่ผ่านมาในภาพรวมมีเข้ามา เป็นจำนวนมากถึง 3.8 ล้านครั้ง ในปีงบประมาณ 2567 ในจำนวนนี้เป็นคนที่ไม่มีสิทธิรักษาอยู่ที่ 1.5 ล้านครั้ง
“ปัญหาถัดมาคือ ในบางครั้งสถานพยาบาลเก็บค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ เพราะคนต่างด้าวบางส่วนจ่ายได้ แต่บางส่วนก็จ่ายไม่ได้ บางส่วนใช้สิทธิ แต่สิทธิที่มีอาจไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของกองทุนที่มีอยู่ เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้จากคนต่างด้าวในพื้นที่ชายแดน พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่าถึง 9.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ถึง 8.2 เท่าตัว ซึ่งกว่า 81.1% ของมูลค่าดังกล่าวมาจากพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะจังหวัดตาก”
สถานการณ์ข้างต้น จึงสร้างความกังวลกับคนไทยในหลายด้าน ทั้งนี้ สศช.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่หน่วยบริการสาธารณสุขของจังหวัดตากที่มีอาณาเขตติดกับประเทศเมียนมา พบข้อเท็จจริง ดังนี้
1) ชายแดนประเทศเมียนมาที่ติดกับจังหวัดตากขาดแคลนสถานพยาบาล ทำให้คนต่างด้าวจำเป็นต้องข้ามแดนเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่มารักษาเมื่อมีอาการป่วยหนักและมีฐานะยากจน ทำให้ไม่สามารถชำระค่ารักษาพยาบาลได้
2) คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิในการรักษาและมารับบริการสาธารณสุขในประเทศไทย บางส่วนเป็นคนที่เกิดในประเทศไทยและควรจะได้รับสิทธิกองทุน ท.99
3) โรงพยาบาลชายแดนไทยต้องเป็นด่านหน้าในการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะโรคติดต่อร้ายแรงไม่ให้ระบาดในประเทศ ซึ่งหลายกรณี แพทย์ตามโรงพยาบาลชายแดนจำเป็นต้องไปตรวจรักษาและให้บริการในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคสาเหตุข้างต้น ทำให้เกิดผลกระทบที่โรงพยาบาลชายแดนต้องแบกรับ ทั้งภาระในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ รวมถึงภาระทางการเงินของโรงพยาบาลชายแดนเพิ่มขึ้น
“หลาย ๆ กรณี มาด้วยอาการหนักมากแล้ว ฉะนั้น เราก็ต้องทำการรักษา เพราะมีประเด็นเรื่องมนุษยธรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการคลอดลูก หรือบางกรณีมีโรคระบาดที่ไม่เคยเกิดในไทย หมอไทยก็ต้องเข้าไปรักษาในพื้นที่ฝั่งเมียนมา เพื่อไม่ให้เชื้อโรคข้ามฝั่งมาเมืองไทย ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ทางโรงพยาบาลตามชายแดนต้องแบกรับไว้ และบุคลากรทางการแพทย์ก็มีภาระงานเพิ่มด้วย ถ้าดูอัตราส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากรในจังหวัดตากจะอยู่ที่ 1 ต่อ 3,373 คน แต่ถ้ารวมคนต่างด้าวด้วยจะอยู่ที่ 1 ต่อ 8,000 กว่าคน”
เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานของโรงพยาบาลชายแดนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทางกระทรวงสาธารณสุขอาจจะจำเป็นต้องพิจารณาประเด็น ดังนี้
1) การจัดสรรทรัพยากรสาธารณสุขให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ทั้งทรัพยากรบุคคลและงบประมาณ โดยต้องคำนึงถึงบริบทของความแตกต่างของแต่ละพื้นที่
2) การสร้างกลไกในการยกระดับสาธารณสุขชายแดน โดยต้องเร่งรัดการดำเนินการตามเป้าประสงค์ของแผนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอาศัยกลไกภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับสาธารณสุขทั้งฝั่งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
3) การเร่งรัดการพิสูจน์สิทธิในกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิให้ครบถ้วน โดยอาจใช้กลไกภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนช่วยในการประสานการดำเนินการ