
ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ประกาศความร่วมมือ อีอีซี เดินหน้าดึงดูดเม็ดเงิน FDI หลังปี’67 ยอดอนุมัติสูงสุดในรอบ 20 ปี อยู่ที่ 7.27 แสนล้านบาท ชี้ กนง.ลดดอกเบี้ย-จีดีพี ไม่กระทบกระแสการลงทุน เชื่อนักลงทุนดูเสถียรภาพ-ทักษะแรงงาน
นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากตัวเลขในปี 2567 ไทยมีการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติเป็นมูลค่ารวมราว 7.27 แสนล้านบาท ถือเป็นสถิติยอดการลงทุนสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยจะเห็นว่าอีอีซีถือเป็นศูนย์กลางของการเติบโต 78% ของมูลค่าการลงทุน หรือคิดเป็น 5.68 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มูลค่า 2.56 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิทัล 9.5 หมื่นล้านบาท และยานยนต์แห่งอนาคต 8.7 หมื่นล้านบาท สะท้อนถึงบทบาทของอีอีซีในฐานะแรงขับเคลื่อนหลักของกลยุทธ์การลงทุนของไทย
ขณะเดียวกัน ธนาคารมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ 0.25% เหลือ 2.00% ต่อปี ถือว่าไม่ได้เซอร์ไพรส์สำหรับธนาคาร เนื่องจากฝ่ายวิจัยของธนาคารประเมินว่า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง และมองว่าปัจจัยดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลักไม่ที่มีผลต่อเงินทุนต่างประเทศ รวมถึงการปรับลดจีดีพี เพราะนักลงทุนต่างประเทศให้ความสำคัญในด้านเสถียรภาพต่าง ๆ ความพร้อมด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ หรือทักษะแรงงานมากกว่า
ดังนั้น ธนาคารที่มีจุดแข็งในด้านของเครือข่ายอยู่ 58 ประเทศทั่วโลกที่จะเป็นตัวกลางในการให้บริการด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมให้กับธุรกิจที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย และธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ ทำให้ธนาคารไม่ได้มองแค่การปล่อยสินเชื่อเพียงเท่านั้น แต่เป็นการให้บริการด้านอื่น ๆ เช่น ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ธุรกรรมบริหารเงินสด (Cash Management) และธุรกรรมปริวรรตเงินตรา (FX) เป็นต้น
“ธุรกิจที่เข้ามาลงทุนจะเน้นเข้ามาเพื่อใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งประเทศไทยก็ยังได้รับความสนใจจากต่างประเทศอยู่ จะเห็นได้จากเมื่อปีก่อนที่มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสู่ประเทศไทยสูงสุดในรอบ 20 ปี”
ล่าสุดธนาคารลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ เพื่อดึงดูดการลงทุนระดับโลก สู่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยจะเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงนักลงทุนซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงในระดับภูมิภาค แต่ยังรวมถึงนักลงทุนระดับโลกในระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ
ด้านนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี กล่าวว่า ภายใต้การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งสององค์กรจะร่วมมือในการแสวงหานักลงทุนที่มีศักยภาพ อำนวยความสะดวกในการลงทุนผ่านโครงการต่าง ๆ และอาศัยความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจระดับนานาชาติของธนาคารเอชเอสบีซี เพื่อปลดล็อกโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ
โดยในปี 2568 ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จะให้การสนับสนุนในกิจกรรมโรดโชว์ เพื่อส่งเสริมการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซีในระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ จีน สิงคโปร์ ยุโรป ไต้หวัน และญี่ปุ่น