
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเผย อยู่ระหว่างพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยตาม กนง. ชี้กลุ่มใช้ดอกเบี้ยลอยตัวได้ประโยชน์ พร้อมกางแผนปี’68 โตสินเชื่อรวม 2-4% โฟกัสรายใหญ่ 5-7% หลังดีมานด์การลงทุนกลับมา-หนี้เสียขยับเพิ่มแตะ 3.25-3.50% รับรายย่อย-เอสเอ็มอียังต้องระมัดระวังปล่อยกู้
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% จาก 2.25% เหลือ 2.00% ต่อปี โดยธนาคารจะนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (ALCO) เพื่อพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ดี ภายใต้การปรับลดดอกเบี้ยนั้น กลุ่มลูกค้าที่มองว่าจะได้ประโยชน์ จะเป็นกลุ่มลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบลอยตัว (Floating Rate) เป็นต้น
“หลัง กนง.ลดดอกเบี้ย ก็เป็นเรื่องปกติที่ธนาคารจะมีการพิจารณาปรับลดตาม ส่วน จะปรับลดทั้งกระดาน และขากู้-ฝากหรือไม่อย่างไรก็อยู่ระหว่างการพิจารณาในบอร์ด ALCO”
สำหรับเป้าหมายธุรกิจปี 2568 ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน โดยคาดว่าจีดีพีจะเติบโตอยู่ที่ 2.7% ปัจจัยหลักในการสนับสนุนมาจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชน แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามทั้งความเสี่ยงการค้าโลก และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ธนาคารจึงตั้งเป้าเติบโตธุรกิจอย่างระมัดระวัง
โดยตั้งเป้าสินเชื่อภาพรวมอยู่ที่ 2-4% มองว่าธุรกิจขนาดใหญ่จะสามารถกลับมาขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน หลังจากชะลอการลงทุน จึงตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัว 5-7% ด้านธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ยังมีความเปราะบาง แต่ธนาคารยังคงสนับสนุนในเรื่องของสินเชื่อหมุนเวียน (Working Capital) โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีน่าจะทรงตัว (Flat)
ขณะที่สินเชื่อรายย่อย ธนาคารตั้งเป้าเติบโต Low Single Digit เนื่องจากยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือน จึงระมัดระวังการเติบโตและปล่อยสินเชื่อตามหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) โดยในส่วนสินเชื่อเช่าซื้อเติบโตทรงตัว (Flat) เพราะปีก่อนหดตัวติดลบค่อนข้างเยอะ เช่นเดียวสินเชื่อที่อยู่อาศัยทรงตัว แต่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ตั้งเป้าเติบโต 5-7%
สำหรับสินเชื่อธุรกิจในอาเซียน ยังคงมุ่งมั่นในการขยายตัว เพราะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง แต่ธนาคารยังดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ขณะเดียวกัน ธนาคารเพิ่งเข้าซื้อกิจการบางส่วนอาจต้องมีการลงทุนและปรับระบบให้สอดคล้องกับธนาคาร จึงตั้งเป้าเติบโตธุรกิจอาเซียน 3-5%
อย่างไรก็ดี สัดส่วนการสร้างรายได้จากต่างประเทศจะอยู่ที่ 20% ของรายได้รวม แม้ว่าเทียบสัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศอยู่ที่ 5-6% ของสินเชื่อรวมจะค่อนข้างน้อยก็ตาม ขณะที่สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ธนาคารได้ปรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อภายในปี 2573 เป็น 2.5 แสนล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 9.5 หมื่นล้านบาท
ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คาดว่าจะขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.25-3.50% จากปีก่อน 3.23% โดยกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบจะมาจากธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางและเล็ก ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และเทรดดิ้ง เป็นต้น
โดยกลยุทธ์ในปี 2568 จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ด้าน ได้แก่ 1.One Krungsri 2.การขยายเครือข่ายในอาเซียน และ 3.ความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน
“ปีนี้เราถึงไปมุ่งโตในกลุ่มรายใหญ่ เพราะสินทรัพย์ยังมีคุณภาพดี และเอสเอ็มอีเราก็ยังปล่อยอยู่ แม้หนี้เสียยังโตต่อเนื่อง เช่นเดียวกับพอร์ตโดยรวมที่แม้เราระมัดระวังมากขึ้น แต่เราก็ยังช่วยลูกค้าต่อเนื่องให้ผ่านช่วงยากลำบากไปให้ได้ สำหรับภาพรวมโครงการคุณสู้ เราช่วย ปัจจุบันยอมรับว่าคนที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของธนาคารมีเพียง 20% ของลูกค้าทั้งหมด ซึ่งน้อยกว่าที่ประเมินไว้ แต่มองว่าการขยายระยะเวลาของ ธปท.มีส่วนช่วยลูกหนี้มีโอกาสเข้าโครงการเพิ่มขึ้น“