ลูกหนี้ร่วม “คุณสู้ เราช่วย” น้อย สศช.จี้เร่งแก้ปม-ห่วง NPL ครัวเรือนพุ่ง

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

สศช. เผยหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัวชะลอลง ห่วงคุณภาพสินเชื่อ-NPL พุ่ง แนะต้องให้ความสำคัญดำเนินการ 3 ประเด็น ทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาเข้าร่วม “คุณสู้ เราช่วย” ให้มากขึ้น พร้อมสร้างความตระหนักรู้ทางการเงินป้องกันการตกเป็นเหยื่อจากภัยการเงิน รวมถึงติดตามความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย ฟาก “ทีทีบี” ชี้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ปรับโครงสร้างลึกสุดเท่าที่เคยมีมา-ลูกหนี้ได้ประโยชน์เต็ม ๆ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ขนาดเล็ก จำนวน 2.1 ล้านบัญชี 1.9 ล้านราย

แต่ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมไม่มาก ทั้งนี้ ล่าสุดยังมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมเพียง 746,912 บัญชี จากลูกหนี้ 642,030 ราย (ณ 10 ก.พ. 68) ซึ่งล่าสุดมีการขยายเวลาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการออกไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2568

“คงต้องขยายการประชาสัมพันธ์ และสร้างการเข้าถึงให้กับลูกหนี้ต่าง ๆ เพื่อที่จะแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนให้ได้เร็วขึ้น เพราะว่ามาตรการนี้จะช่วยลูกหนี้ลดเงินต้นได้ค่อนข้างมาก ในช่วงที่เข้าโครงการ” นายดนุชากล่าว

2) การสร้างความตระหนักรู้ทางการเงิน เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อจากภัยการเงิน เนื่องจากปัจจุบันพบมิจฉาชีพหลอกลวงผ่านคำโฆษณาชวนเชื่อ อาทิ “ปิดหนี้ให้” “ไม่คิดดอก” “ดอกต่ำมาก” หรือเข้ามาช่วยปิดหนี้ให้แล้วชักชวนลงทุน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อลูกหนี้เป็นจำนวนมาก

ADVERTISMENT

และ 3) การติดตามความคืบหน้าการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้มละลาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาหนี้ของลูกหนี้รายย่อย ให้สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้สิน โดยการเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยหนี้กับเจ้าหนี้หลายรายในคราวเดียว ซึ่งจะช่วยลดจำนวนลูกหนี้ที่จะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องล้มละลายและถูกยึดทรัพย์

นายดนุชากล่าวว่า ข้อมูลที่มีล่าสุด ในไตรมาส 3 ปี 2567 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.34 ล้านล้านบาท ขยายตัว 0.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งการชะลอตัวดังกล่าวทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ปรับลดลงมาอยู่ที่ 89.0%

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ดีการปรับลดลงของสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ไม่ได้สะท้อนถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ลดลง แต่เกิดจากการชะลอตัวของหนี้ครัวเรือนเมื่อเทียบกับอัตราขยายตัวของ GDP ดังนั้นหากหนี้สินครัวเรือนและ GDP ขยายตัวในอัตราที่ต่ำทั้งคู่ต่อไป จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในระยะถัดไป

“การเติบโตของหนี้ครัวเรือนชะลอลงมา 3 ไตรมาสแล้ว แต่ว่าในแง่ของการขยายตัวของสินเชื่อ ถ้าดูตามวัตถุประสงค์ ยังมีการขยายตัวอยู่ ไม่ว่าจะการซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ที่ยังคงขยายตัว ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ หดตัวลงอย่างชัดเจนต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง” นายดนุชากล่าว

เลขาธิการ สศช.กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลเครดิตบูโร พบว่ามูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป (NPLs) มีจำนวน 1.16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8.46% เพิ่มขึ้นจาก 8.01% ของไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อเพื่อการเกษตร (ดูตาราง)

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” นั้น แทบจะเป็นโครงการปรับโครงสร้างหนี้ที่ปรับได้ลึกที่สุดตั้งแต่เคยมีมาตรการลักษณะนี้มา ซึ่งลูกหนี้จะได้ประโยชน์เยอะมาก เพราะมีรัฐกับธนาคารช่วยจ่ายดอกเบี้ยให้แบบเต็ม ๆ ช่วง 3 ปีที่เข้าร่วมมาตรการ ดังนั้นถ้าเข้าร่วมโครงการก็จะช่วยให้ลดภาระดอกเบี้ยได้อย่างมีนัยสำคัญ