‘เผ่าภูมิ’ เตรียมปรับโครงสร้างภาษี หนุนรถ PHEV ตั้งฐานผลิตในไทย

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล

‘เผ่าภูมิ’ รมช.คลัง พร้อมสรรพสามิตหนุนรถยนต์ PHEV เตรียมปรับโครงสร้างภาษี ก่อนมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 69 ลุยลดเงื่อนไขขนาดถังน้ำมัน-ปริมาณการปล่อย CO2 พร้อมแยกโครงสร้างภาษี PHEV และ HEV ออกจากกัน หวังดันไทยเป็นฐานการผลิต

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้มีการเตรียมความพร้อมตามมาตรการปรับปรุงเงื่อนไขอัตราภาษีรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้า Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2569 โดยเป็นการสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของรถยนต์ประเภท PHEV ให้สอดคล้องกับหลักสากลและเพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ประเภท PHEV ตามนโยบายของรัฐบาล

โดยปัจจุบันการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ PHEV จะถูกจัดอยู่ในพิกัดอัตราภาษีเดียวกับ Hybrid Electric Vehicle (HEV) โดยอัตราภาษีจะพิจารณาจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป โดยกรมสรรพสามิตได้กำหนดพิกัดอัตราภาษี PHEV และ HEV แยกจากกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.รถยนต์ประเภท PHEV ที่มีระยะการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range) ไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง และมีขนาดถังน้ำมันไม่เกิน 45 ลิตร จัดเก็บอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 5

2.รถยนต์ประเภท PHEV มีระยะการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range) ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร ต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง หรือมีขนาดถังน้ำมันมากกว่า 45 ลิตร จัดเก็บอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการทบทวนเกณฑ์การกำหนดอัตราภาษี PHEV ดังกล่าว โดยจะพิจารณาจากระยะทางวิ่งด้วยไฟฟ้า (Electric Range) ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เพียงเกณฑ์เดียวเท่านั้น เพื่อส่งเสริมมีการพัฒนารถยนต์ประเภท PHEV ที่จำหน่ายในประเทศไทยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ADVERTISMENT

โดยการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีในการเพิ่มระยะวิ่งด้วยไฟฟ้า เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปล่อย CO2 รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการใช้รถยนต์ PHEV ที่สามารถใช้การวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าในเขตตัวเมือง และใช้การวิ่งด้วยพลังงานผสมในการเดินทางระหว่างเมือง

ดังนั้นวันนี้ได้มีสั่งการและหารือกับกรมสรรพสามิต 3 ประเด็น 1. แยก PHEV ออกจาก HEV 2. เปลี่ยนจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวกำหนดโครงสร้าวภาษีมาเป็นระยะทางวิ่ง ในการกำหนดภาษี โดยขีดเส้นเบื้องต้นที่ 80 กิโลเมตร นอกจากนี้ได้มีสั่งการว่าหากเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น Electric Range มากขึ้น ระยะทาง ก็จะขยับตามเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้น 3. ได้มีการพิจารณาถังน้ำมันที่เป็นปัจจัยที่ไม่เหมาะสมในการกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้จะมีข้อสรุปของโครงสร้างภาษี PHEV เร็วที่สุด เพื่อที่จะมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ADVERTISMENT

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล

“เรามุ่งเน้นการส่งเสริมให้มีการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น และจะยังคำนึงถึงการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของภูมิภาค เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป”

นางสาวสกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การกำหนดพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์โดยการกำหนดระยะการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range) ดังกล่าว เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการพัฒนารถยนต์ PHEV ตามหลักสากล

ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและต่อยอดให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ประเภท PHEV ที่มีมาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์ประเภทสันดาปภายในไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

อีกทั้ง การปรับปรุงหลักเกณฑ์โดยลดข้อกำหนดของขนาดถังน้ำมันในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนขนาดถังน้ำมันในรถยนต์ที่ผ่านการทดสอบแบบรุ่นที่ได้รับมาตรฐานในระดับสากลมาแล้วให้ลดลงจากเดิม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมต้องทำการทดสอบความปลอดภัยเฉพาะรุ่นที่ผลิตในประเทศไทยใหม่อีกด้วย

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล