“พิชัย” สั่ง ออมสิน ปล่อยกู้อาชีพค้าขาย-เข้าไม่ถึงสินเชื่อ 3 แสนราย

ธนาคารออมสิน

“พิชัย” รมว.คลัง สั่งแบงก์ออมสิน ปล่อยสินเชื่อรายย่อยรายละ 1-2 หมื่นบาท เป้าหมาย 3 แสนรายที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ หวังช่วยเติมเงินเข้าระบบ-กระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเร่งถกสมาคมแบงก์ผ่อนคลายเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้ธนาคารออมสินช่วยเติมเม็ดเงินในระบบ โดยการปล่อยสินเชื่อผ่านโมบายแบงกิ้ง วงเงิน 1-2 หมื่นบาทต่อราย เป้าหมาย 3 แสนบัญชี คุณสมบัติจะเป็นกลุ่มบุคคลธรรมดาที่ทำมาค้าขาย และไม่เคยได้สินเชื่อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทางออมสินก็รับโจทย์ไปแล้ว และกำลังหาวิธีการอยู่ คาดว่าจะประกาศเปิดตัวโครงการได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

นายพิชัยกล่าวว่า รวมทั้งกำลังเตรียมหารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อพิจารณาเรื่องการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลช่วยอุดหนุนด้วยการให้ธนาคารพาณิชย์ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอไอดีเอฟ) ลงไป 0.23% จากปกติ 0.46% ซึ่งเปิดโอกาสให้ทางธนาคารพาณิชย์เสนอวิธีการด้วยตัวเอง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็จะช่วยดูในเรื่องนี้ด้วย

“ที่ผ่านมาสถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ โดยเน้นไปปล่อยกู้แค่รายใหญ่ แต่ไม่ปล่อยให้รายเล็ก ถ้ารายเล็กมีปัญหาก็ลามกลับมาถึงรายใหญ่ได้เช่นกัน ซึ่งการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อนี้ ไม่ใช่การบังคับให้แบงก์ต้องปล่อยหมด แต่ให้เลือกกลุ่มที่พอมีความสามารถ ไม่ใช่ปิดประตูไม่ปล่อยให้รายเล็กเลย และเป้าหมายของผมการเติมเงินเข้าสู่ระบบและการเติมเงินที่ดีที่สุด คือการให้สินเชื่อ” นายพิชัยกล่าว

นายพิชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเงินหายไปจากตลาด โดยในหนึ่งปีมียอดสินเชื่อค้างในระบบธนาคารอยู่ราว 18 ล้านล้านบาท โดยมีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ Net Interest Margin (NIM) อยู่ที่ 3% เท่ากับคนเอาเงินไปจ่ายดอกเบี้ยราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งก็กลายเป็นกำไรของธนาคาร ซึ่งมองว่าปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบรวม 2 แสนล้านบาทนั้น มากเกินไปเมื่อเทียบกับศักยภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน ซึ่งอยากให้ภาคธุรกิจกลับมามองถึงความยั่งยืน หันกลับมาช่วยกัน แทนการมุ่งไปที่การทำกำไรสูงสุด

นายพิชัยกล่าวว่า ขณะที่ถ้าอยากให้เงินกลับเข้าสู่ระบบ ก็ต้องมีการปล่อยสินเชื่อ แต่สินเชื่อยังเท่าเดิม ทำให้เงินหายไปจากตลาด เพราะฉะนั้น ก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปหารือกับธนาคาร ว่าถ้าไม่ปล่อยสินเชื่อเลยก็จะเกิดปัญหาเช่นนี้ ซึ่งรายย่อยเหล่านี้จะขอกู้ไม่เยอะแค่ 1-2 หมื่นบาทเท่านั้น และยอมรับในดอกเบี้ยสูงกว่าปกติได้ แต่ไม่อยากออกไปกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยแพงเกินไป

ADVERTISMENT

“เมื่อเศรษฐกิจขับเคลื่อน เริ่มมีคนลงทุนมากขึ้น สิ่งที่เขาอยากเห็นคือการเข้าถึงสินเชื่อที่ดอกเบี้ยถูก ซึ่งวันนี้ในส่วนของผู้กู้รายใหญ่ได้ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว ส่วนรายกลางลงมายังต้องพิจารณา จึงเป็นที่มาให้ผมได้คุยกับ ธปท. ให้ช่วยพิจารณาเรื่องแอลทีวี การมีเกณฑ์แอลทีวีนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีคือ การกันไม่ให้เกิดหนี้เสียเยอะขึ้น แต่ข้อเสียคือ คนบางส่วนอาจพอมีกำลัง แต่พอเจอเกณฑ์เข้มงวดไปก็เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่งก็ต้องมีการไปปรับกติกาบางอย่าง” นายพิชัยกล่าว

นายพิชัยกล่าวว่า รวมทั้งการทำให้คนเป็นหนี้มีอิสรภาพ หรือเรื่องติดเครดิตบูโร ซึ่งรัฐบาลก็พยายามช่วย อาทิ โครงการแก้หนี้ คุณสู้ เราช่วย ในส่วนมาตรการจ่าย ปิด จบ ที่รัฐบาลตั้งงบฯ ช่วยปิดหนี้ก้อนไม่เกิน 5,000 บาท ล่าสุดช่วยไปแล้วกว่า 1 แสนบัญชี หรือกรณีที่เป็นการกู้ร่วม การค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งคลังจะหารือกับ ธปท. เพื่อแก้ไขเกณฑ์การกู้ร่วม โดยให้หาคนที่กู้จริง เพื่อให้มาใช้หนี้ตามโครงการ ส่วนคนที่เป็นผู้กู้ร่วมก็จะปลอดภาระไปอัตโนมัติ

ADVERTISMENT

นายพิชัยกล่าวว่า ส่วนกรณีลูกหนี้ดีนั้น รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการอยู่ แต่ยังระบุรายละเอียดไม่ได้ ซึ่งเข้าใจคนเป็นลูกหนี้ และรัฐบาลก็ยินดีจะช่วย ทั้งนี้ที่ผ่านมาที่ภาคสถาบันการเงินมีภาระวิกฤตต้มยำกุ้ง คือการที่รัฐช่วยอุ้มในช่วงฟองสบู่แตก เกิดเป็นกองทุนเอไอดีเอฟ ซึ่งปัจจุบันยังใช้หนี้ไม่หมด แต่รัฐบาลก็ยินดีที่จะช่วยยืดระยะเวลานำเงินเข้าส่งกองทุนเอไอดีเอฟ และมาช่วยลูกหนี้แทน