คลังบี้แบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้ สั่งออมสินอุ้มแม่ค้า 3 แสนบัญชี SCB นำร่องหั่นดอกเบี้ย

ขุนคลังเร่งเครื่องเติมเงินเข้าระบบ นัดถกสมาคมแบงก์ผ่อนคลายปล่อยสินเชื่อ เล็งทำโครงการดึงเงิน “ซอฟต์โลน” แบงก์ชาติมาช่วยประชาชน พร้อมสั่ง “ออมสิน” ลุยปล่อยกู้ออนไลน์คนค้าขาย 3 แสนบัญชี รายละ 1-2 หมื่นบาท ลั่นปีนี้หวังปลุกจีดีพีโต 3.5% ผ่าน 3 เครื่องยนต์หลัก ชี้นโยบายการเงินต้องช่วยทั้ง “ค่าเงิน-ดอกเบี้ย” แบงก์พาณิชย์ขานรับ กนง.หั่นดอกเบี้ย “ไทยพาณิชย์” นำร่อง ลดสูงสุด 0.25% ต่อปี KKP มองช่วยลดต้นทุนเอสเอ็มอี-รายใหญ่หนุนตัดสินใจลงทุนเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ที่มีมติ 6 : 1 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.25% มาอยู่ที่ 2.00% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และมองไปข้างหน้ายังมีความเสี่ยงเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคการผลิตที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันจากสินค้านำเข้าที่รุนแรงขึ้น

คลังถกสมาคมแบงก์

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลต้องการเติมเงินเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเงินหายจากระบบไปมาก จากการที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ โดยจะหารือกับสมาคมธนาคารไทย เรื่องการผ่อนคลายเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้นการประชุมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา จึงได้เชิญ ธปท.เข้าร่วมด้วย

“ถ้าแบงก์ปล่อยแต่รายใหญ่ ไม่กล้าปล่อยรายเล็ก แต่ถ้ารายเล็กมีปัญหา จะไปถึงรายใหญ่ไหม ก็ลองไปคิดดู ซึ่งก็คงไม่ได้ไปบังคับให้แบงก์ต้องปล่อยหมด แต่ควรมีทางเลือก ไม่ใช่ปิดประตูเลย คือ ปีหนึ่ง ๆ มียอดสินเชื่อค้างอยู่ในระบบธนาคาร 18 ล้านล้านบาท บางคนก็จ่ายดอกเบี้ย 3% 4% บางคนก็จ่าย 7% หรือ 10% ก็มี

แต่ดูที่ NIM ซึ่งอยู่ที่กว่า 3% คิดออกมาก็ประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท ที่มีคนเข้าไปจ่ายดอกเบี้ยให้กับแบงก์ แล้วแบงก์ก็ไปลงเป็นรายได้ จ่ายเป็นเงินปันผล ขณะที่ถ้าจะให้มีเงินใหม่เข้ามา ก็ต้องมีสินเชื่อใหม่ แต่เมื่อสินเชื่อเท่าเดิม ก็แปลว่าเงินหายไปจากตลาด ก็เพราะว่าแบงก์ไม่ปล่อย”

สั่งออมสินอัดสินเชื่อรายย่อย

รองนายกฯระบุว่า โดยการที่แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ อาจจะบอกว่ากังวลความเสี่ยงหนี้เสีย แต่อยากให้คิดให้ลึก ๆ เพราะถ้าไม่ปล่อยสินเชื่อเลยก็จะมีปัญหา ซึ่งที่ผ่านมามีคนปล่อยกู้ผ่านโมบายแบงกิ้ง คล้าย ๆ กับเป็น Virtaul Bank ผ่านมา 2 ปีแล้วหนี้ก็ไม่เสีย

ADVERTISMENT

ดังนั้นส่วนหนึ่ง กระทรวงการคลังจะให้ทางธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อออนไลน์ในลักษณะดังกล่าว โดยให้กู้รายละไม่เกิน 10,000-20,000 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มค้าขายที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อในระบบ มีอยู่ประมาณ 3 แสนบัญชี โดยทางธนาคารออมสินน่าจะประกาศเรื่องนี้ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

“ดังนั้นเราจะมีมาตรการที่เติมเม็ดเงินลงไป ซึ่งผมก็จะมอนิเตอร์ความเข้มแข็ง งบดุลของแบงก์ออมสินด้วย หรือแม้กระทั่งเรื่องสินเชื่อบ้าน ผมก็จะรีวิวด้วย เรื่องรถกระบะก็จะดูด้วยว่า หนี้เสียจะให้ บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) เข้าไปช่วย 30%

ADVERTISMENT

เพื่อดูแลเรื่องนี้ให้เข้าในระบบค้ำประกัน เพราะเรามองรถกระบะเป็นเครื่องมือทำมาหากิน วิธีคิดผมก็คือ เติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบให้ได้ คนที่จะเติมได้ดีที่สุดก็คือ สถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินภาครัฐก็เติมเข้าไปค่อนข้างเยอะ”

บี้แบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้

นายพิชัยกล่าวว่า เรื่องหนึ่งที่กำลังคิดอยู่ คือการทำโครงการที่สามารถใช้ซอฟต์โลนของ ธปท.ได้ เพื่อทำให้ธนาคารพาณิชย์กล้าใส่เงินเข้าระบบ โดยในอดีตก็เคยมีการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาแล้ว ทั้งนี้ หลักคิดของตน ก็คือต้องเติมเงินเข้าระบบ

สำหรับคนที่ปัจจุบันมีปัญหา แต่ก่อนโควิดคนเหล่านี้ก็ไม่ได้มีปัญหา ดังนั้นจึงอยากให้แบงก์รับความเสี่ยงมากขึ้นอีกหน่อย เพื่อช่วยคน เพราะแบงก์ก็มีกำไรมาก เมื่อเทียบกับศักยภาพของประเทศในปัจจุบัน

ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ มีเป้าหมายจะผลักดันการเติบโตของ GDP ปีนี้ให้ได้ 3-3.5% ซึ่งจะขับเคลื่อนผ่าน 3 เครื่องยนต์หลัก คือ 1.การส่งออก ที่ตั้งเป้าผลักดันให้เติบโต 4.4% 2.เร่งรัดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน และ 3.การท่องเที่ยว ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากกว่า 38.5 ล้านคน ผ่านการเป็นเจ้าภาพจัดซีเกมส์

สำหรับการผลักดันการส่งออก ผู้ประกอบการส่งออกก็ต้องการเห็นเงินบาทอยู่ในระดับอ่อนค่า ขณะที่การผลักดันเรื่องการลงทุน นักลงทุนก็ต้องการต้นทุนการเงินที่ต่ำ ดังนั้นก็ต้องดอกเบี้ยถูก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ธปท.จะมีส่วนอย่างมาก

SCB นำร่องหั่นดอกกู้ 0.25%

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มเติบโตไม่สูงนักจากปัจจัยท้าทายภายนอกและความเปราะบางภายในประเทศ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนทางการเงิน สนับสนุนการใช้จ่ายและการลงทุนให้เกิดสภาพคล่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

โดยจะช่วยบรรเทาความตึงตัวของภาวะการเงินในปัจจุบัน และช่วยให้ภาคธุรกิจและประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขัน และข้อจำกัดของสภาพคล่อง รวมถึงลูกค้ารายย่อยที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และต้องรับภาระหนี้สูง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) จากปัจจุบัน 7.325% เป็น 7.075% ต่อปี (ปรับลด 0.25%)

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จากปัจจุบัน 7.175% เป็น 7.075% ต่อปี (ปรับลด 0.1%) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.925% เป็น 6.825% ต่อปี (ปรับลด 0.1%) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป

แบงก์ลดดอกเบี้ยฝาก-กู้

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า หลังจาก กนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.00% ต่อปี คาดว่าภายในไม่กี่วันนี้ ธนาคารต่าง ๆ จะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงตาม ทั้งดอกเบี้ยเงินฝาก ที่คาดว่าคงลด 0.25% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่อาจจะลดน้อยกว่าที่ระดับ 0.10%

“การส่งผ่านนโยบายจะเกิดขึ้นแน่ ๆ เพราะก็มีความคาดหวังจากหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาล ประชาชน ภาคธุรกิจ โดยดอกเบี้ยเงินฝากยังไงก็คงลดลง ส่วนเงินกู้ก็อาจจะน้อยกว่า คงลดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพอร์ตของแต่ละแบงก์”

ทั้งนี้ กลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยรอบนี้ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีและคอร์ปอเรต เพราะส่วนใหญ่จะดอกเบี้ย MLR ซึ่งภาระจะลดลง และจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนใหม่ หรือการบริโภคเพิ่มขึ้นได้ ส่วนกู้ใหม่ซื้อบ้าน ซื้อรถใหม่ ดอกเบี้ยก็จะลดลง ซึ่งจะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และคงมีผลให้สินเชื่อขยายตัวได้ดีขึ้นด้วย เพราะจะทำให้เกิดการลงทุน และการบริโภคที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องของความมั่นใจ

เอกชนกู้แบงก์แทนขายหุ้นกู้

ดร.พิพัฒน์ระบุว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจโดยเฉพาะรายกลาง น่าจะหันมาใช้สินเชื่อธนาคารมากขึ้น เพราะตลาดหุ้นกู้ในปัจจุบันก็ระดมทุนยากขึ้น นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยรอบนี้ก็ช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากในรอบหลายปี ในช่วงที่ผ่านมาด้วย

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะลดต่ออีก 2 ครั้ง ในไตรมาส 2 อีก 1 ครั้ง และไตรมาส 3 อีก 1 ครั้ง เพราะตอนนี้ก็เหมือน กนง.เปิดประตูลดดอกเบี้ยแล้ว เหลือเหตุผลเรื่อง Policy Space เพียงอย่างเดียว โดยทาง กนง.คงจะพิจารณาตามสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ Outlook Dependent หากดูแล้วน่าเป็นห่วง ก็คงลดดอกเบี้ยอีก

KBANK ชี้หนุนสินเชื่อไม่มาก

นายจงรัก รัตนเพียร ผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปและประกาศในต้นสัปดาห์หน้า โดยจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอาจจะพิจารณาปรับตามความเหมาะสม โดยเชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนให้กับลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจ ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง M Rate

ส่วนผลต่อการขยายตัวของสินเชื่อนั้นมองว่า อัตราดอกเบี้ยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าอาจจะตัดสินใจขอวงเงินเพิ่มเมื่อราคาหรือต้นทุนลดลง อาจจะเป็นแรงหนุนสินเชื่อได้ แต่ทั้งหมดขึ้นกับภาพรวมเศรษฐกิจและความเสี่ยงของลูกค้าเป็นหลัก

สอดคล้องกับ นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ก็น่าจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยลูกหนี้ลดลง แต่อาจจะไม่ได้ช่วยให้สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะการเติบโตสินเชื่อน่าจะมาจากศักยภาพของลูกค้ามากกว่า

และมองว่า การปรับลดดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างพอร์ต ต้นทุน รายได้ และความเสี่ยงของแต่ละธนาคาร คาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.125-0.25% ต่อปี ในส่วนของธนาคารทิสโก้ก็จะพิจารณาตามภาวะการแข่งขันและต้นทุนของธนาคาร แต่เชื่อว่าธนาคารใหญ่น่าจะมีผลกระทบ
มากกว่า

ตลาดเงินรับบอนด์ยีลด์ลด 0.10%

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ได้มีการส่งผ่านไปยังตลาดเงินแล้ว โดยจะเห็นว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) อายุต่ำกว่า 1 ปี ในช่วง 2 วันปรับลดลงมาแล้วเฉลี่ย 0.10%

เช่นเดียวกับตลาดอินเตอร์แบงก์ และล่าสุดมีการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังธนาคารพาณิชย์แล้ว เพราะเริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์บางแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามมาภายใน 1 วัน และน่าจะทยอยประกาศตามมา

“การปรับดอกเบี้ยก็คงอยู่กับโครงสร้างเงินฝาก สินเชื่อ และโมเมนตัมการปล่อยสินเชื่อ ท้ายที่สุดก็จะทยอยปรับลดลงเหมือนในอดีตที่ปรับตามจังหวะ ซึ่งเป็นกลไกปกติ ส่วนสินเชื่อจะฟื้นตัวหรือไม่ขึ้นกับแนวโน้มและจังหวะการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่มีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อ และการประเมินความเสี่ยงและความสามารถในการกู้และชำระคืนของผู้กู้ ซึ่งดอกเบี้ยก็เป็นหนึ่งในปัจจัย แต่คงต้องรอแรงหนุนจากปัจจัยอื่น ๆ ประกอบกันไปด้วย”