
เซอร์ไพรส์ กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ประเมินเศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด-ความเสี่ยงสูงขึ้น
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 24-28 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (24/2) ที่ระดับ 33.53/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 33.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่ามาที่ระดับ 106.34 หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
โดยดัชนี PMI ภาคการบริการของสหรัฐ ที่สำรวจโดย S&P Global ในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.7 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนถึงภาวะหดตัว) ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53 จุดพอสมควร นอกจากนี้ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจได้เปิดเผยผลลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 98.3 ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2567 ในเดือน ม.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 102.3 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความกังวลมากขึ้นว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. ดิ่งลงเกือบ 7% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปีร่วงลงหลุดระดับ 4.4% ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ฉุดดอลลาร์อ่อนค่าลง
อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดการเงินสหรัฐอยู่นภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์มีแรงประคองจากสัญญาณของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุย้ำถึงการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐ โดยนักลงทุนติดตามความเคลื่อนไหวของรัฐบาลสหรัฐ ในการใช้มาตรการภาษีศุลกากร โดย ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า คณะบริหารของเขาจะประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป (EU) ในอัตรา 25% ในไม่ช้านี้
แต่ในขณะเดียวกัน ปธน.ทรัมป์ก็ทำให้ตลาดมีความหวังว่าสหรัฐอาจจะชะลอการเก็บภาษีนำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา โดยเขากล่าวว่ามาตรการเรียกเก็บภาษีจากทั้งสองประเทศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งล่าช้าไปประมาณหนึ่งเดือนจากกำหนดเส้นตายในสัปดาห์หน้า นอกจากนั้น นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันศุกร์นี้
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในวันอังคาร (25/2) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมกราคม 2568 การส่งออกมีมูลค่า 25,277 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.6% (YOY) จากตลาดคาดโต 7-8% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 27,157 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.9% ส่งผลให้ในเดือน ม.ค. ไทยขาดดุลการค้า 1,800 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยยังขยายตัวดี มาจากแรงหนุนจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง, อุปสงค์ต่างประเทศที่เร่งตัว จากความกังวลประเด็นสงครามการค้าโดยเฉพาะสหรัฐ และจีน รวมถึงความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่เติบโตต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการขยายตัวของกิจกรรมภาคการผลิต
นอกจากนี้ในวันพุธ (25/2) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 6:1 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.0% โดยการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ มาจากการพิจารณาของ กนง.ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ จากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เผชิญการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศ
อีกทั้งความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้น หลังสหรัฐดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าอย่างรวดเร็วและรุนแรง ขณะที่ภาวะการเงินในประเทศยังคงตึงตัว โดยเฉพาะปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ทั้งนี้ กนง.มองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ จะช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายลง และช่วยรองรับความเสี่ยงด้านต่ำในระยะข้างหน้า โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.37-34.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 34.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (24/2) ที่ระดับ 1.0506/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 1.0469/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นของยูโรโซน ซึ่งจัดทำโดย S&P Global อยู่ที่ระดับ 50.2 ในเดือน ก.พ. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ม.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 50.5
จึงทำให้ภาพรวมกิจกรรมทางธุรกิจของยูโรโซนในเดือน ก.พ. ยังคงขยายตัวที่ระดับต่ำ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลงต่อเนื่องและในอัตราเร็วขึ้น ขณะที่การขยายตัวเล็กน้อยของภาคบริการไม่เพียงพอที่จะช่วยชดเชยการหดตัวที่ยาวนานของภาคการผลิต
ขณะที่ในวันอังคาร (25/2) สำนักงานสถิติของเยอรมนีได้เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หดตัวลง 0.2% ในไตรมาส 4/2567 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับประมาณการเบื้องต้น ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเยอรมนีที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของยุโรป กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการชะลอตัวคือการส่งออกสินค้าและบริการที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากตลาดต่างประเทศ ต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงและความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ในวันพุธ (26/2) คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) แถลงว่า จะตอบโต้ทันทีและอย่างแข็งกร้าวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐประกาศว่าจะเก็บภาษีนำเข้า 25% จากสินค้าของสหภาพยุโรป (EU) โดยโฆษก EC ยังระบุในแถลงการณ์ว่า EU พร้อมปกป้องธุรกิจ แรงงาน และผู้บริโภคในยุโรปจากมาตรการภาษีที่ไม่เป็นธรรม โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0379-1.0528 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 1.0398/10400 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (24/2) ที่ระดับ 149.04/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 150.47/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนเข้าซื้อคืนเงินเยน ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า BOJ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกมากกว่าที่คาดไว้
นอกจากนี้ ในวันศุกร์ (28/2) ทางการญี่ปุ่น เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในกรุงโตเกียว ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยสาเหตุสำคัญของการชะลอตัวมาจากมาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้าและก๊าซที่รัฐบาลญี่ปุ่นรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในเดือน ม.ค.
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้ออาจกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้งหลังจากมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลงในเดือน มี.ค.นี้ ขณะที่ นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ยืนยันว่า ธนาคารกลางจะยังคงพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปหากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเติบโตของค่าจ้างและอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งที่ผ่านมา BOJ ได้ยุติมาตรการกระตุ้นทางการเงินขนานใหญ่ที่ดำเนินมากว่า 10 ปีลงเมือปีที่แล้ว และล่าสุดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็น 0.5% จาก 0.25% ในเดือน ม.ค.
ทั้งนี้ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.56-150.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 150.44/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ