
สศช.ชี้แจงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บไม่ได้ของคนต่างด้าวในพื้นที่ชายแดน 31 จังหวัด 9.2 หมื่นล้านบาท ยันข้อมูลที่นำเสนอมาจากกระทรวงสาธารณสุข
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้แจงว่า ตามที่ สศช. ได้แถลงข่าวรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2567 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ เรื่อง คนต่างด้าวกับระบบสาธารณสุขชายแดน ว่ามีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เรียกเก็บไม่ได้ของคนต่างด้าว ในพื้นที่ชายแดน 31 จังหวัด มูลค่า 9.2 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567
ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี สศช. เปิดเผยค่าใช้จ่ายต่างด้าวเข้ามารักษาในไทยใช้วงเงิน 9.2 หมื่นล้านบาทว่า ตัวเลขดังกล่าวน่าจะมีความผิดพลาดและเป็นไปไม่ได้นั้น
สศช.ขอชี้แจงในเรื่องการนำเสนอข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ดังนี้
1. สศช.ได้ทำหนังสือที่ นร 1104/174 ลงวันที่ 14 มกราคม 2568 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับคนต่างด้าวในระบบสาธารณสุขชายแดน ถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้บริการสาธารณสุขของคนต่างด้าว
รวมทั้งงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าว จนถึงปี 2567 และได้แจ้งว่าจะนำมาจัดทำเป็นสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ นำเสนอในรายงานภาวะสังคมไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2567
2. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือที่ สธ 0210.05/4756 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ส่งข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับคนต่างด้าวในระบบสาธารณสุขชายแดน มายัง สศช. ทั้งในรูปแบบเอกสารและไฟล์ข้อมูล
ประกอบด้วยจำนวนคนต่างด้าวที่เข้ามาใช้บริการสาธารณสุขของไทย และเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดน จำแนกตามสัญชาติ สิทธิการรักษา กลุ่มจังหวัด และโรค จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงงบประมาณ
การรักษาของคนต่างด้าว ทั้งที่เรียกเก็บได้และเรียกเก็บไม่ได้ ระหว่างปี 2560-2567 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีค่าใช้จ่ายของคนต่างด้าวทั้งหมดในพื้นที่ชายแดน 31 จังหวัด อยู่ที่ 95,203,717,959.04 บาท เป็นค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บไม่ได้ 92,083,466,347.59 บาท
ทั้งนี้ ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวกับกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจัดทำบทความลงในรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2567
3. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานกลับมาว่าจะทำหนังสือส่งข้อมูลที่ถูกต้องมายัง สศช.อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ สศช.ขอยืนยันว่า การจัดทำข้อมูล การนำเสนอข้อมูล และรายงานสถานการณ์ทางสังคมที่นำเสนอในรายงานภาวะสังคมทุกครั้ง ในทุกไตรมาส ดำเนินการตามหลักวิชาการ, ขอข้อมูลอย่างเป็นทางการผ่านการออกหนังสือราชการ มีหลักฐานในการขอข้อมูลและนำข้อมูลมาใช้อย่างถูกต้อง
และนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เพื่อชี้ประเด็นที่ยังเป็นปัญหา และสร้างความตระหนักให้กับสังคมไทย อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมต่อไป