
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด ผู้เขียน : ดร.พิม มโนพิโมกษ์, ดร.นุวัต หนูขวัญ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ปรากฏการณ์เงินเฟ้อสูงทั่วโลกในปี 2565 ส่งผลให้ค่าครองชีพและต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น ในกรณีไทย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปแตะระดับสูงสุดที่เกือบ 8% ในเดือนสิงหาคม 2565 โดยราคาน้ำมันและอาหารสดในช่วงนั้นปรับเพิ่มขึ้นกว่า 40%
แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้สร้างความท้าทายให้กับธนาคารกลางทั่วโลกเป็นอย่างมาก ที่ต้องรักษาเสถียรภาพด้านราคา โดยการรักษาเงินเฟ้อให้ต่ำและไม่ผันผวน เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพราะเอื้อให้ประชาชนและธุรกิจสามารถตัดสินใจบริโภค ออม และลงทุนได้อย่างเหมาะสม ในกรณีของไทย แบงก์ชาติรักษาเสถียรภาพด้านราคา โดยมีเป้าหมายสำหรับเงินเฟ้อระยะปานกลาง (ประมาณ 3-5 ปี) อยู่ที่ 1-3%
ในช่วงที่ผ่านมาไทยมีเสถียรภาพด้านราคาที่ดี โดยเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากในปี 2565 สามารถคลี่คลายได้เร็วเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ส่วนมากยังเผชิญกับเงินเฟ้อสูง ค้างที่ระดับประมาณ 3%
อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังเงินเฟ้อไทยกลับต่ำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีช่วงที่ติดลบอ่อน ๆ ด้วยซ้ำ แน่นอนว่าการที่เงินเฟ้อไทยต่ำย่อมแปลว่าระดับราคาของสินค้าและบริการที่เคยเร่งสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้าไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ดังนั้น ข้อดีของเงินเฟ้อไทยที่ต่ำคือ ช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพสูงและลดแรงกดดันด้านต้นทุนของธุรกิจไปได้บ้าง อย่างไรก็ดี แม้เงินเฟ้อไทยในช่วงนี้จะทยอยปรับเพิ่มขึ้น (ล่าสุดอยู่ที่ 1.3% ในเดือน ม.ค.) แต่ก็อยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมาย จึงนำมาซึ่งคำถามว่า เงินเฟ้อไทยที่ต่ำ ต่ำเพราะสาเหตุใด น่ากังวลหรือไม่ และบทบาทของนโยบายการเงินในการดูแลเงินเฟ้อไทยควรเป็นอย่างไร ?
เวลาเงินเฟ้อต่ำหลายคนมักกังวล เพราะนึกถึงภาวะเงินฝืดที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่นตอนช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับวิกฤตการเงินและโตช้ามาก ทำให้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องจนถึงขั้นส่งผลย้อนกลับ (Spiral) มาซ้ำเติมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากครัวเรือนชะลอการบริโภค และธุรกิจปรับลดการผลิตและลงทุน จากการคาดการณ์ว่าราคาสินค้าจะลดต่ำไปอีก
อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อต่ำในไทยไม่เข้าข่ายเงินฝืด เนื่องจากไม่ได้มีสัญญาณของการปรับลดราคาสินค้าลงในวงกว้าง (สินค้า 75% ในตะกร้าเงินเฟ้อของ กระทรวงพาณิชย์ ราคาไม่ได้ปรับลดลง) รวมถึงการบริโภคเอกชนในปีก่อนยังโตได้ดีที่ระดับ 4.4% นอกจากนี้ ข้อมูลเงินเฟ้อคาดการณ์ของทั้งครัวเรือนและธุรกิจยังทรงตัวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%
สาเหตุของเงินเฟ้อไทยที่ต่ำในช่วงนี้มาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของราคาในหมวดพลังงานจากการลดลงของราคาน้ำมันโลก ประกอบกับมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ไทยมีสัดส่วนของสินค้าที่เป็นอาหารสูงถึง 40% ในตะกร้าเงินเฟ้อ ทำให้เงินเฟ้ออ่อนไหวไปกับปัจจัยด้านอุปทานที่กระทบต่อราคาอาหารสด อาทิ สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งการที่เงินเฟ้อต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานมักไม่ได้น่ากังวล เพราะไม่ได้สะท้อนภาพอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ และยังมีส่วนทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
ซึ่งอาจส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมด้วยซ้ำไป (Positive Supply Shock) โดยปัจจัยด้านอุปทาน เช่น ความผันผวนของราคาน้ำมันโลก หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มักคลี่คลายได้เร็ว
รวมถึงกระทบต่อราคาสินค้าและบริการในวงจำกัด ต่างกับกรณีที่เงินเฟ้อต่ำจากปัจจัยด้านอุปสงค์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาในวงกว้าง ทำให้ทั้งนโยบายการเงินและการคลังอาจต้องเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มแรงกระตุ้นต่ออุปสงค์ในประเทศ
อีกหนึ่งสาเหตุที่เงินเฟ้อไทยต่ำ ที่ผู้คนมักไม่นึกถึง มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างของไทย โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่เล็กและเปิด เงินเฟ้อจึงต่ำจากการแข่งขันด้านราคาจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ เงินเฟ้อไทยที่ต่ำส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดแรงงานไทยมีความยืดหยุ่นสูง หากย้อนกลับไปในปี 2566 ช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นจากวิกฤตโควิด-19 สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อไทยปรับลงเร็วกว่าต่างประเทศ
โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วคือ แรงกดดันด้านค่าจ้างแรงงานที่มีน้อยกว่า เนื่องจากมีการโยกย้ายแรงงานระหว่างภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ และอุปทานจากแรงงานต่างด้าว ทำให้ตลาดแรงงานไทยไม่ได้ตึงตัวอย่างในหลายประเทศจนทำให้ค่าจ้างแรงงานเร่งสูงขึ้น กลายเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ หรือส่งผ่านไปยังผู้บริโภค
เมื่อเข้าใจที่มาของเงินเฟ้อต่ำในไทย คงสบายใจได้ระดับหนึ่ง ว่าเงินเฟ้อต่ำไม่ได้น่ากังวลต่อเศรษฐกิจ การเข้าใจที่มาของเงินเฟ้อยังสามารถนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เหมาะสมได้ โดยธนาคารกลางมักจะไม่ตอบสนองต่อเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งอุปทาน (Look-Through)
เนื่องจากปัจจัยด้านอุปทานมักมีผลชั่วคราวและเฉพาะจุด จึงคลี่คลายได้เอง และอัตราดอกเบี้ยก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านอุปทานได้โดยตรง ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยด้านอุปทานอาจทำให้เงินเฟ้อผันผวนและอยู่นอกกรอบเป้าหมายชั่วคราวได้ แต่สิ่งที่ธนาคารกลางมุ่งหวังคือ ในระยะปานกลางเงินเฟ้อจะกลับเข้ามาอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%
อย่างไรก็ดี การ Look-Through ไม่ได้แปลว่านโยบายการเงินไม่มีบทบาทในการดูแลเงินเฟ้อ เนื่องจากหากปัจจัยด้านอุปทานเริ่มกระทบต่อเงินเฟ้อคาดการณ์ ก็อาจทำให้เงินเฟ้อที่ต่ำค้างนานเกินไป เช่น หากธุรกิจเริ่มคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะต่ำเป็นระยะเวลานาน ก็อาจเริ่มปรับลดราคาลงตามกันเป็นวงกว้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเฉกเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงภาวะเงินฝืด
ดังนั้น แบงก์ชาติจึงให้ความสำคัญมากกับการดูแลเงินเฟ้อคาดการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นตัวสำคัญที่ยึดโยงให้เงินเฟ้อที่สูงหรือต่ำชั่วคราวกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายได้
และในระยะต่อไปก็คงเป็นเครื่องชี้หลักตัวหนึ่งที่แบงก์ชาติจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะต้องยอมรับว่าเงินเฟ้อไทยมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับต่ำไปอีกสักระยะ จากทั้งความพยายามของภาครัฐที่จะลดค่าไฟฟ้า รวมถึงนโยบายขึ้นกำแพงภาษีของ Trump ที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จนกดดันให้ราคาน้ำมันโลกอยู่ในระดับต่ำ