วิจัยกรุงศรี หั่นจีดีพีปี’68 เหลือ 2.7% ชี้ไทยขาดดุลงบประมาณ 4.5% สูงสุดประวัติการณ์

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ
ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ

วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปรับจีดีพีปี’68 จาก 2.9% เหลือ 2.7% มองเติบโตสูงสุดในรอบ 7 ปี อานิสงส์การใช้จ่ายภาครัฐ-ท่องเที่ยว ชี้งบประมาณขาดดุลแตะ 4.5% ของจีดีพี สูงสุดเป็นประวัติการณ์ คาด กนง.คงดอกเบี้ยยาวทั้งปีที่ระดับ 2% สอดคล้องเศรษฐกิจ-รักษา Policy Space

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า วิจัยกรุงศรีฯ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จาก 2.9% เหลือ 2.7% สอดคล้องกับโมเมนตัมเศรษฐกิจ แต่เป็นอัตราเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่เติบโต 2.5% ซึ่งการขยายตัว 2.7% ถือเป็นอัตราการเติบโตสูงสุด 7 ปี แต่ยังเป็นอัตราต่ำกว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยและต่ำกว่าอาเซียน และหากเทียบกับค่าเฉลี่ยระหว่างก่อนโควิด-19 และหลังโควิด-19 จะเห็นช่องว่างการเติบโตห่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยระยะยาวต่ำกว่าในอดีตค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ หากดูปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในปี 2568 จะมาจาก 1.การใช้จ่ายภาครัฐเข้าสู่ภาวะปกติ หลังปี 2567 งบฯ ล่าช้า ซึ่งในปีนี้งบประมาณสูงขึ้นกว่าปีก่อน 4.2% โดยเฉพาะงบฯ ลงทุน 15.4% จะช่วยดึงการลงทุนภาคเอกชนตามมา และมองการบริโภคภาครัฐ 1.5% ลงทุนภาครัฐ 3.8% อย่างไรก็ดี ไทยมีการขาดดุลงบประมาณสูงสุด 4.5% ของจีดีพี สูงสุดในประวัติการณ์จากค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาอยู่ที่ 3% ของจีดีพี ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณ

และ 2.การท่องเที่ยว คาดนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 38 ล้านคน และรายได้นักท่องเที่ยว 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ 35.5 ล้านคน และรายได้ 1.50 ล้านล้านบาท โดยปีนี้คาดนักท่องเที่ยวจีนกลับมาอยู่ที่ 8-9 ล้านคน และ 3.การส่งเสริมการลงทุน (BOI) อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ นโยบายการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีผลต่อภาคการส่งออก ทำให้การส่งออกปีนี้ชะลอเหลือ 2.7% และอากาศแปรปรวนส่งผลต่อรายได้ภาคเกษตรและหนี้ครัวเรือนไตรมาสที่ 3/2567 ลดลงมาอยู่ 89% ต่อจีดีพี แม้ลดลงแต่ยังเป็นแรงกดดันต่อการบริโภค

ADVERTISMENT

“ตัวเลขจีดีพี 2.7% อาจจะมีทั้งบวกเพิ่มและลบได้ หากมีการลงทุนภาครัฐและเอกชนจะเป็นขาขึ้น และหากทำได้ตามแผนก็ช่วยกระตุ้นการเติบโตได้ แต่ขาเสี่ยงต่ำก็มีได้เหมือนกัน ในเรื่องของสงครามการค้าที่เราเผชิญ“

ดร.พิมพ์นารากล่าวว่า สำหรับทิศทางนโยบายการเงินภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (RP) 0.25% เหลือ 2.00% ต่อปี โดยคาดว่าภายในปีนี้ กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี 2568 ซึ่งเป็นระดับที่รักษาการเติบโตเศรษฐกิจและรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) โดยมองว่าระดับ 2.00% ต่อปี เป็นอัตราที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ

ADVERTISMENT

”การลดดอกเบี้ยลง 0.25% มองว่าช่วยลดภาระครัวเรือนที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว ช่วยทำให้ภาระเบาลงได้ และช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและลงทุนเพิ่ม“

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.3% แต่เป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ปัจจัยหนุนจากการผ่อนคลายลงของเงินเฟ้อซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ขณะเดียวกัน ยังเปิดทางให้ประเทศแกนหลักทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความเสี่ยงต่อภาวะถดถอย

อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจจะถูกกดดันจากหลายปัจจัย อาทิ ผลพวงจากอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ท่ามกลางภาระหนี้จำนวนมากของภาครัฐและภาคเอกชน ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง

นอกจากนี้ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจซึ่งนำโดยสหรัฐและจีน ผ่านการกีดกันทางการค้าด้านภาษีและมิใช่ภาษีศุลกากรที่รุนแรงขึ้น อาจจุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ และตอกย้ำกระแสโลกาภิวัตน์ย้อนกลับ (Deglobalization) ซึ่งจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจทั่วโลก

”เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.3% จากปีก่อน 3.2% ดีขึ้นเล็กน้อย แต่ก่อนโควิด-19 โตได้ 3.6% อย่างไรก็ดี โลกเผชิญกับ 3 คำคือ A.P.T ได้แก่ AI, Policy และ Trump จะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจพอสมควร โดยคาดว่าสหรัฐโตได้ 2.7% โดย 4 เศรษฐกิจใหญ่มีแต่คำว่าความเสี่ยงและเปราะบางอยู่”