
หลังจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ไตรมาส 4 ปี 2567 ออกมาขยายตัว 3.2% และทั้งปี 2567 ขยายตัว 2.5% ไม่ได้สูงอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง ส่งผลให้โมเมนตัมที่จะส่งต่อแรงหนุนมายังการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2568 นี้ ดูจะเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เพราะมองไปข้างหน้าก็เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกที่สร้างความไม่แน่นอน อันมาจากนโยบายของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ “โดนัลด์ ทรัมป์”
ช่วงนี้ เราจึงเห็นสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจต่าง ๆ พาเหรดกันหั่นประมาณการจีดีพีปีนี้ลงกันแทบทุกสำนัก โดยมองการเติบโตอยู่ในช่วงระหว่าง 2.5-2.9% กัน
นั่นเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องเร่งผลักดันกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์กัน เราจึงเห็นภาพการปรึกษาหารือกันที่ “บ้านพิษณุโลก” เห็นการเรียกประชุมหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลัง เห็นการถกกันระหว่าง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับ “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เพื่อเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
โจทย์รัฐบาลเข็นจีดีพีโตเกิน 3%
“คําตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาประเทศไทย ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ก็คือการที่ทําให้เศรษฐกิจมันเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะปัญหาที่เราเห็น ทั้งเรื่องหนี้ เรื่องการลงทุนที่น้อย ทั้งหมดนี้ คําตอบสุดท้ายก็คือ การเติบโตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ดังนั้น สิ่งที่เราทําหลายอย่างก็เพื่อตรงนี้” รองนายกฯและ รมว.คลัง กล่าวให้สัมภาษณ์เครือ “มติชน” เมื่อเร็ว ๆ นี้
“พิชัย” บอกว่า รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันจีดีพีปีนี้ให้โตได้ถึง 3-3.5% จากที่หลายสำนักมองว่า จะโตได้ 2.8-2.9% โดยชี้ว่า หากมองจากฐานช่วงครึ่งหลังปี 2567 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าเศรษฐกิจโตได้ 3.1% ดีกว่าครึ่งปีแรก ดังนั้น ปีนี้ก็น่าจะผลักดันให้โตเกิน 3% ได้
“เราคิดว่าในแง่รัฐบาล ข้อแรก ก็ต้องผลักดันให้เกิน 3% ข้อสอง ระดับที่ 3% เราก็พยายามตั้งเป้าให้มันรู้สึกว่าทุกคนจะต้องทํางาน มันก็มีโจทย์และวิธีปฏิบัติงาน แต่ถ้าเราอยากเห็นตัวนี้มันค่อย ๆ โตและยั่งยืน แล้วไปได้ ก็แปลว่าจะต้องมีงานคู่ขนาน แปลว่ามันจะมีโจทย์ที่จะต้องแก้ปัญหาปีนี้ แต่ก็จะต้องวางรากฐานให้แข็งแรง เพื่อจะทําสิ่งที่เราทําแต่ละปี เดินได้ด้วยตัวเองด้วย”
เร่งขันนอต 3 เครื่องยนต์หลัก
“พิชัย” ระบุว่า แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะดำเนินการ จะให้ความสำคัญกับ 3 เครื่องจักร คือ 1.“การลงทุน” ที่ต้องเร่งทั้งภาครัฐ ผ่านงบประมาณ และรายจ่ายลงทุนที่ต้องผลักดันให้เบิกจ่ายได้ 85% จากปกติจะทำได้ปีละใกล้ ๆ 80% และการลงทุนเอกชน ผ่านการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ต้องให้เริ่มลงทุนจริงให้ถึง 45% จากปกติจะได้ราวปีละ 40%
“การลงทุนนี่ ทุก ๆ 100,000 ล้านบาท ที่จ่ายเพิ่มเข้าไปได้จากเดิมที่เคยใส่ มันเพิ่มจีดีพีได้ถึง 0.25% ตัวนี้มันเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นพวกรายใหญ่ลงทุน”
2.“การส่งออก” ที่เป็นเครื่องจักรที่ใหญ่ที่สุด ตามแผนปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 4.4% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายของทรัมป์
และ 3.“การท่องเที่ยว” จากปีที่แล้วทำได้ 35 ล้านคน ปีนี้ตั้งเป้าไว้ประมาณ 38.5 ล้านคน ซึ่งหากทำได้ก็เก่งแล้ว อย่างไรก็ดี จะต้องใช้โอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ปลายปี จัดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อดึงนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็ต้องผลักดันให้นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายต่อหัวมากขึ้น เพราะหลังจากโควิดมา การใช้จ่ายต่อหัวลดลงจากประมาณ 5.5 หมื่นบาท มาเหลือ 4-4.7 หมื่นบาท ซึ่งนอกจากซีเกมส์แล้ว รัฐบาลก็ได้ผลักดันส่งเสริมการนำเข้ารถโบราณ เพื่อสามารถใช้จัดอีเวนต์ในประเทศ
“ตลาดรถโบราณเนี่ย มูลค่าประมาณ 40,000 ล้านเหรียญ ถ้าเราแคปเจอร์ได้สัก 10% หรือ 4,000 ล้านเหรียญ ก็แสนกว่าล้านบาทที่จะเข้ามาเมืองไทย ถ้าเราทําได้ดี เราแต่ละปีมีให้ไปขับรถโบราณตรงไหน มีอีเวนต์ขึ้นมาก็ช่วยได้ นอกจากนี้ เรื่องรถฟอร์มูล่าวัน (F1) ที่เมืองไทย มีสถานที่ที่ทุกคนอยากทํามากเลย แต่ว่าการจะทําก็ยาก อย่างวิ่งที่เกาะรัตนโกสินทร์นี่ ผมไม่กล้าพูด แต่เคยไปดูวิ่งรอบเกาะสิงคโปร์ไม่มีอะไรเลย ดังนั้น แปลว่าการท่องเที่ยวนี่ จะต้องปรับเปลี่ยนไป”
ทำคู่ขนาน “แก้โครงสร้าง ศก.”
ขณะที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง “พิชัย” ชี้ว่า เรื่องแรกเลยก็ต้องทำเรื่องการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งต้องเริ่มจากดูว่า ควรจะปลูกอะไร ปลูกเท่าไหร่ ปลูกที่ไหน ตลาดอยู่ที่ไหน อย่างข้าว การผลิตเพื่อบริโภคและส่งออกก็ต้องสมดุล โดยเมื่อส่งออก ค่าเงินก็ต้องช่วยสนับสนุนด้วย
ส่วนภาคอุตสาหกรรมก็ต้องถามว่า อะไรคือจุดแข็งของประเทศไทยที่เราจะส่งเสริม ถ้าเอาเฉพาะสิ่งที่เป็นความสามารถในประเทศไทยแล้ว ทําไปได้แน่นอนก็คือ เซ็กเตอร์เกษตรเหมือนกัน ซึ่งต้องบวกกับไบโอเทคโนโลยี การแปรรูป
“พิชัย” กล่าวด้วยว่า ในเรื่องพลังงานก็ต้องปรับเช่นเดียวกัน เพราะวันนี้ราคาแพงไป ซึ่งต้องมาดูว่าจะส่งเสริมอะไรบ้าง ไบโอแก๊สหรือไม่ อย่างประเทศจีน กับเยอรมนี ก็นิยม อย่างไรก็ดี การพัฒนาเรื่องพลังงาน เรื่องไฟฟ้าก็ต้องเป็นไปตามเทรนด์โลก ที่ยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคาร์บอนเครดิต ขณะที่พลังงานที่จะใช้ในประเทศมองว่า ก๊าซธรรมชาติยังจำเป็นที่จะมาช่วยให้ต้นทุนพลังงานถูกลงได้
“ในโลกนี้มนุษย์ยังต้องพึ่งก๊าซธรรมชาติ หรือแอลเอ็นจี ต่อไปอย่างน้อย 60-70 ปี ยังมองไม่ออกว่ามีเทคโนโลยีตัวไหนที่จะมาช่วย เพราะเป็นฟอสซิลที่ยอมรับได้แล้ว ทีนี้ถามว่าการที่ตัวนี้จะถูก ถ้าเราต้องใช้และรับซื้อ ก็ต้องกลับมาว่า สิ่งที่เราต้องทํานอกเหนือจากเรื่องคน เรื่องทิศทางของต่าง ๆ ที่จะต้องสีเขียว อีกเรื่องหนึ่งก็คือเป็นเจ้าของพลังงานให้มากที่สุด ครั้งหนึ่งเราเคยเป็นเจ้าของพลังงานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติได้เกิน 100% ซึ่งถ้าเราจะหนีก๊าซธรรมชาติไม่ได้ในช่วงนี้ แปลว่าเราต้องมีความเป็นเจ้าของเอง ถามว่าเรามีไหม ตอบได้ว่าเยอะมาก คือที่อ่าวไทย”
ชี้นโยบายการเงินต้องช่วย
“พิชัย” กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลผลักดันลงทุนให้มีมากขึ้น ก็จะกลับมาพูดกันว่าจะเอาเงินที่ไหน สินเชื่อจะปล่อยหรือไม่ ดังนั้นจึงได้มีการเชิญทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาหารือว่าจะช่วยสนับสนุนได้อย่างไรบ้าง อย่างเรื่องส่งออก ถ้าผลักดันเพิ่มการส่งออกได้ สิ่งที่คนในภาคส่งออกอยากเห็น ก็คือให้เงินบาทอ่อน ส่วนคนที่จะลงทุน ก็อยากเข้าถึงสินเชื่อที่ดอกเบี้ยถูก
“ผมก็บอกว่าช่วยได้ไหม เรื่อง LTV มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี ก็คือการไม่ให้หนี้เสียเยอะขึ้น ข้อเสีย คือมีบางส่วนที่เขามีความสามารถที่จะลงทุน แต่ถ้าใช้กติกาเดียวกัน มันก็ผิด”
บี้แบงก์ปล่อยสินเชื่อใหม่
นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำก็คือ แก้ให้คนเป็นอิสรภาพจากหนี้ให้มากที่สุด ซึ่งคิดว่ากําลังจะทําอีก 2-3 อย่าง โดยจะคุยกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อจะเล่าให้ฟังสถานการณ์ทั้งหมดว่าเป็นยังไง อยากจะเห็นการผ่อนปรนมากขึ้น แล้ว ธปท.ก็ต้องดูแล
ทั้งนี้ สิ่งที่กำลังคิดอยู่ก็คือ การทำโครงการที่สามารถใช้ซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ เพื่อทำให้ธนาคารพาณิชย์กล้าใส่เงินเข้าระบบ โดยในอดีตก็เคยมีการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาแล้ว
สำหรับคนที่ปัจจุบันมีปัญหา แต่ก่อนโควิดคนเหล่านี้ก็ไม่ได้มีปัญหา ดังนั้นจึงอยากให้แบงก์รับความเสี่ยงมากขึ้นอีกหน่อย เพื่อช่วยคน เพราะแบงก์ก็มีกำไรมาก เมื่อเทียบกับศักยภาพของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ โดยเน้นไปปล่อยกู้แค่รายใหญ่ แต่ไม่ปล่อยให้รายเล็ก
“ถามว่า ถ้ารายเล็กมีปัญหา ก็ลามมาถึงรายใหญ่ได้เช่นกัน ซึ่งการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อนี้ ไม่ใช่การบังคับให้แบงก์ต้องปล่อยหมด แต่ให้เลือกกลุ่มที่พอมีความสามารถ ไม่ใช่ปิดประตู ไม่ปล่อยให้รายเล็กเลย”
“พิชัย” กล่าวว่า ปัจจุบันเงินหายไปจากตลาดมาก เพราะแบงก์ไม่ปล่อย อย่างไรก็ดี ในส่วนของแบงก์รัฐ ธนาคารออมสินกำลังจะมีการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ให้กลุ่มคนที่ค้าขาย ที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อในระบบ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 แสนบัญชี ให้กู้รายละไม่เกิน 10,000-20,000 บาท โดยทางธนาคารออมสินน่าจะประกาศเรื่องนี้ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
“วิธีคิดผมก็คือ เติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบให้ได้ และคนที่จะเติมได้ดีที่สุด ก็คือ สถาบันการเงิน ซึ่งในส่วนแบงก์รัฐก็เติมไปเยอะ” รองนายกฯและ รมว.คลังกล่าว