
ดร.สมเกียรติ ประธานสถาบัน TDRI ชี้ไทยเสี่ยงจัดภัยพิบัติโลกร้อน เจอ 4 ภัยใหญ่กระทบไทย หวั่นลามกระทบเศรษฐกิจ แนะตั้งกองทุน Green Transition & Adaptation Fund รับมือการปรับลดคาร์บอนลดโลกร้อน-การปรับตัวอยู่กับโลกที่ร้อนขึ้น มอง “ธุรกิจประกัน” จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกใหม่ที่เต็มไปด้วยภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานสัมมนา “ตื่นรู้ ปรับเปลี่ยน รับความเสี่ยงภัยจากสภาพภูมิอากาศในโลกใหม่ที่ต้องเผชิญ (Adapting to climate change ; New World-New Risk-New Practice)” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่าโลกกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
โดยมี 3 การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในโลกที่กำลังติดตามอยู่คือ 1.เทคโนโลยีก้าวกระโดด ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าวิธีทำมาหากินของคนในโลกไปมาก 2.ภูมิรัฐศาสตร์ คงเห็นการที่สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนผู้นำใหม่เป็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้เปลี่ยนโฉมหน้าของโลกใหม่ และ 3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ทำให้โลกที่เรารู้จักกลายเป็นอีกโลกหนึ่งซึ่งไม่เหมือนเดิม และ 3 เรื่องนี้มีความคาบเกี่ยวกัน
“เมื่อโลกเปลี่ยนผู้นำใหม่โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ความตื่นตัวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ลดลงไปมาก และจะทำให้โลกมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงขึ้น ในเวลาเดียวกันเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถนำมาใช้ในการรับมือกับการปรับเปลี่ยนได้” ดร.สมเกียรติกล่าว
และธุรกิจประกันภัยจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น เพราะว่าโลกใหม่ที่เราจะเจอเต็มไปด้วยภัย โดย 4 ภัยใหญ่ที่จะกระทบต่อประเทศไทยคือ 1.ทะเลสูง แผ่นดินต่ำ 2.น้ำท่วมแรง 3.แห้งแล้งจัด 4.วิบัติคลื่นร้อน ซึ่งเป็นความเสี่ยงและโอกาสของมนุษย์ทั้งหมด
ภัยแรก “ทะเลสูง แผ่นดินต่ำ” การพยากรณ์ของ Climate Central ตามสถานการณ์ปกติคือโอกาสที่จะเกิดขึ้นมากที่สุด เขาเรียกว่า Scenario 4.5 โดยอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นประมาณ 3 องศา เมื่อเทียบกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยผลกระทบคือน้ำทะเลจะสูงขึ้น และจะทำให้กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคกลางตอนล่างบางส่วน มีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ซึ่งเห็นตัวอย่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วคือ วัดขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ที่อยู่ในเกาะไปแล้ว หรือบางขุนเทียน จะเห็นเสาไฟฟ้าอยู่ในน้ำ เหตุการณ์เหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้น ผืนดินกำลังถูกรุกล้ำโดยทะเล
และภัยที่สองจะเกิด “น้ำท่วมแรง” โดยปี 2567 น้ำท่วมภาคเหนือครั้งใหญ่ คนในจังหวัดเชียงรายบอกว่าอยู่มา 50-60 ปี ไม่เคยเจอน้ำท่วมใหญ่ขนาดนี้ และภาคใต้บางจังหวัดก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ และต่อไปน้ำท่วมใหญ่จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ โดยการพยากรณ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งทำวิจัยให้กับ TDRI บอกไว้ว่า ในอีกประมาณ 20 ปีหลังจากนี้คือปี 2041-2050 อาจจะมีบางจังหวัดในประเทศที่มีฝนตกต่อเนื่อง 5 วันถึงระดับ 480-490 มิลลิเมตร โดยปริมาณฝนจะวัดถ้าเกิน 90 มิลลิเมตรต่อวัน จะเรียกว่า “ฝนตกหนัก” นี่แปลว่าตกหนักต่อเนื่อง 5 วัน โดยบริเวณที่จะเกิดอาจเป็นซีกตะวันตกของประเทศไทย
ภัยที่สามจะเกิด “แห้งแล้งจัด” ซึ่งจะเห็นปีที่ผ่านมา มีบางบริเวณประเทศไทยฝนทิ้งช่วง แล้งสุดขั้ว โดยภัยแห้งแล้งจะเกิดขึ้นกับบริเวณพื้นที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำ เช่น เกาะพีพี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดได้มากขึ้น โดยจากการพยากรณ์ที่ TDRI ว่าจ้างให้มีการศึกษา จะมีบางจังหวัดในประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่จะมีฝนไม่ตกต่อเนื่องกันเกือบ 120 วัน คิดเป็น 1 ใน 3 ของปี และนี่จะเกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร และความเดือดร้อนการเจ็บป่วยของผู้คน
และภัยที่สี่จะเกิด “วิบัติคลื่นร้อน” ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะไทยเป็นประเทศเขตร้อน ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น เช่น ถึงระดับ 45 องศา และถ้าเป็นลักษณะร้อนชื้นทำให้คนไม่สามารถทำให้เหงื่อระบายออกไปได้ อาจทำให้คนเสียชีวิตได้ ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากที่ทำงานเกษตรกรหรือทำงานกลางแจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง, รปภ., ไรเดอร์ ฯลฯ
โดยจะเห็นจำนวนวันที่ไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 35 องศา ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นมา จาก 34 วัน เป็นเกือบ 50 วัน และต่อไปจะเป็น 60-70 วัน และการพยากรณ์ไปข้างหน้าจะพบว่า มีบางจังหวัดที่อาจจะมีอุณหภูมิสูงสุดในบางวันถึง 45 องศา เช่น พิจิตร, สุโขทัย เรื่องนี้จะเกิดขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไป
และประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงติดอันดับ 9 เมื่อเทียบกับทั่วโลก โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (2000-2019) ประเทศไทยมีอากาศวิปริตถึง 146 ครั้ง นั่นแปลว่าปีหนึ่งเกิดขึ้นถึง 7 ครั้ง และเกิดความสููญเสียถึง 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี
ซึ่งปัจจัยนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมาอย่างแน่นอน และจะมีผลต่อวิธีคิดของธุรกิจประกันภัยในการเอาเงินไปลงทุนในระยะยาวเพื่อหาผลตอบแทนด้วย เพราะเศรษฐกิจไทยจะมีความเสี่ยงสูงจากการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และเศรษฐกิจทั่วโลกโดยรวมจะเติบโตช้าลงหรือโตติดลบจากภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ประเทศไทยจะน่าห่วงที่สุด เพราะมีความเสี่ยงสูงสุดประเทศหนึ่งในโลกในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ
“ไทยเสี่ยงจะสูญเสียผลผลิตภาคเกษตรอันดับ 3 จาก 48 ประเทศ จะสูญเสียรายได้จากภาคท่องเที่ยวอันดับ 1 จาก 48 ประเทศ และสูญเสียผลิตภาพแรงงานอันดับ 1 จาก 48 ประเทศ นี่คือความเสี่ยงของประเทศไทย และจะกระทบกับทุกธุรกิจในประเทศไทย”
ดังนั้นต้องมีการปรับตัว 2 เรื่องใหญ่คือ 1.การปรับลดคาร์บอนลดโลกร้อน (Mitigation) และ 2.การปรับตัวอยู่กับโลกที่ร้อนขึ้น (Adaptation) โดยธรรมชาติของการปรับตัว 2 แบบนี้จะไม่เหมือนกัน แบบแรกคือการที่แต่ละประเทศจะกดดันให้ประเทศอื่นลดการปล่อยคาร์บอน เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป จะบอกให้จีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนา ลดการปล่อยคาร์บอน นอกจากนั้นมีความเสี่ยงในระยะเปลี่ยนผ่าน ถ้าเกิดโลกมีสำนึกว่าอยากจะลดคาร์บอนจริง ๆ ประเทศที่ลดคาร์บอนช้าจะถูกกดดันและจะมีผลกระทบทางธุรกิจ
ส่วนแบบที่สองจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยประเทศที่ปรับตัวจะได้ประโยชน์ โดยไม่มีแรงกดดันภายนอก คือต้องดูแลตัวเอง และประเทศที่เห็นโอกาสหรือความเสี่ยงจะอยู่รอดต่อไปได้ดีกว่า
โดยเป้า Mitigation ของประเทศต่าง ๆ ไปสู่ Net Zero จะพบว่าไทย คือปี 2065 ในขณะที่หลายประเทศในโลก อาทิ ยุโรปเหนือ สแกนดิเนเวีย ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ ที่ตั้งเป้าจะลดการปล่อยคาร์บอนเป็น Net Zero ในอีก 5-20 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นประเทศไทยตั้งเป้าช้ากว่าประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลมองปัญหาแบบนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้วคือ ธุรกิจไทยถูกกดดันให้ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เร็วกว่ารัฐบาลตั้งเป้าไว้เร็วกว่ามาก เพราะเจอแรงกดดัน อาทิ ความตกลงปารีส, ภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) ฯลฯ
เรื่องนี้ TDRI ได้เคยเสนอแนวทางเรื่องการนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีมาจัดตั้งกองทุน Green Transition & Adaptation Fund (GTAF) เพื่อช่วยเหลือในการทำ Mitigation (ลดลงตามเวลา) และช่วยเหลือในการทำ Adaptation (เพิ่มตามเวลา) และช่วยกลุ่มเปราะบางปรับตัว
แต่จะมี 4 เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรเร่งทำคือ 1.สร้างงานใหม่ทดแทนงานกลางแจ้ง อาทิ ปรับตัวออกจากภาคเกษตร, ใช้พืชตัดแต่งพันธุกรรม, คิดค่าน้ำตามต้นทุน 2.ปรับปรุงเมืองลดความเสี่ยง อาทิ สร้างกำแพงทางทะเล, ย้ายเมืองหลวง 3.พัฒนาระบบจัดการภัยพิบัติที่ลดความเสี่ยง อาทิ กระจายอำนาจแต่ทำงานบูรณาการ, แก้ไขการใช้ที่ดินผิดพลาด และ 4.เตรียมเงินทุนเพื่อการปรับตัว อาทิ ใช้ประกันภัยแทนการเข้าไปอุ้ม
“วงการประกันภัยจะมีส่วนช่วยอย่างยิ่งในการช่วยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกใหม่ที่เต็มไปด้วยภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ดร.สมเกียรติกล่าวทิ้งท้าย