คลังเปิดช่องนำเข้า “รถโบราณ” เคาะภาษี 100%-หนุนอีเวนต์ปลุกท่องเที่ยว

pichai
นายพิชัย ชุณหวชิร

ขุนคลังเคาะจัดเก็บภาษีนำเข้ารถโบราณ หนุนจัดอีเวนต์สร้างมูลค่าเพิ่มท่องเที่ยวไทย กำหนดนิยามรถอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีขึ้นไป ต้องเป็นการนำเข้า “รถสำเร็จรูป” ทั้งคัน เตรียมเสนอ ครม.ออก พ.ร.ก.กำหนดพิกัดภาษีใหม่

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข้อสรุปและเตรียมเสนอเกี่ยวกับการส่งเสริมรถยนต์โบราณ (Classic Car) ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยเห็นชอบหลักการให้สามารถนำเข้ารถโบราณเข้ามาในประเทศไทย โดยจะกำหนดอัตราภาษีนำเข้าโดยรวม ๆ ประมาณ 100% ของราคานำเข้า ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวด้วย โดยกำหนดนิยามรถโบราณว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีขึ้นไป และเป็นรถสำเร็จทั้งคัน

“วิธีคิดภาษีจะซับซ้อนหน่อย แต่สุดท้ายออกมาประมาณ 100% ของราคานำเข้า ซึ่งราคานำเข้ามีตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป แต่เราก็รู้ว่ารถหรูบางคันราคา 7-8 ล้านบาท หรือ 10-15 ล้านบาท ฉะนั้น ถ้าให้นำเข้ามา เรื่องแรกก็จะมีรายได้ภาษี สอง ก็ต้องมีพื้นที่ให้ทำอีเวนต์ ต้องมีพื้นที่ให้เก็บ และเวลารถเสียแล้วซ่อมได้ ซึ่งเหมาะกับช่างไทย คนไทยเก่งเรื่องซ่อมอยู่แล้ว”

นายพิชัยกล่าวว่า ตลาดรถยนต์โบราณทั้งโลกมีมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากไทยดึงมาได้สัก 10% ตก 4,000 ล้านเหรียญ หรือกว่าแสนล้านบาท หากประเทศไทยทำให้ดี จัดอีเวนต์แต่ละปีจะมีไปขับรถโบราณที่ตรงไหน ก็จะดึงเม็ดเงินเข้ามาได้ ทั้งนี้ เรื่องรถโบราณเป็นหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้จ่ายต่อหัวให้มากขึ้น เพราะปีที่ผ่านมาการใช้จ่ายต่อหัวลดลงไปจากที่เคยเป็นในอดีต

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เรื่องภาษีรถโบราณได้ข้อสรุปหมดแล้ว ขึ้นกับ รมว.คลังจะเสนอที่ประชุม ครม.เมื่อไหร่ โดยจะมีการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กำหนดพิกัดภาษีรถโบราณขึ้นมา เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่เคยจัดเก็บภาษีมาก่อน ซึ่งภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากรถโบราณจะใกล้ ๆ 100% ส่วนอากรขาเข้าที่จัดเก็บโดยกรมศุลกากรจะได้รับการยกเว้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม.สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมศิลปะและรถยนต์โบราณ (Classic Car) เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคการท่องเที่ยว โดยกระทรวงการคลังชี้ว่ารถยนต์โบราณถือเป็นทรัพย์สินและของสะสมที่นิยมของกลุ่มนักสะสมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกับรถยนต์ใช้แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และอาจนำมาต่อยอดเป็นส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้

ADVERTISMENT

อีกทั้งปัจจุบันผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตหรือบูรณะสามารถนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อปรับปรุงหรือซ่อมแซมด้วยวิธีการใด ๆ ให้มีสภาพใช้งานได้ในเขตประกอบการเสร็จ หรือเขตปลอดอากร แล้วส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

ทั้งนี้ ครม.ครั้งนั้นได้เห็นชอบหลักการให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้ารถยนต์โบราณ โดยกรมสรรพสามิตจะกำหนดคำนิยาม หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะสำหรับรถยนต์โบราณ และ กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่เหมาะสม และสอดคล้องกับอัตราอากรขาเข้าในประเภทที่ 06.01 รถยนต์นั่ง, ประเภทที่ 06.02 รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน, และประเภทที่ 06.03 รถยนต์กระบะสำหรับรถยนต์โบราณ

ADVERTISMENT

โดย ครม.ให้ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้ารถยนต์โบราณ ตามพิกัด 87.03 เฉพาะรถยนต์นั่งเท่านั้น (ไม่รวมถึงรถจักรยานยนต์และรถอื่น ๆ) เพื่อให้สอดคล้องกับนิยามรถยนต์โบราณที่กรมสรรพสามิตกำหนด

ขณะที่ประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำเข้ารถยนต์โบราณดังกล่าว คาดว่าจะทำให้สามารถจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นการจัดเก็บจากสินค้าที่อยู่นอกเหนือจากพิกัดเดิม

นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนการจัดกิจกรรมสำหรับรถยนต์โบราณ เช่น การประกวดรถยนต์โบราณ การจัดแสดงนิทรรศการรถยนต์โบราณ การจัดขบวนคาราวานรถยนต์โบราณ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยทุกระดับ รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตหรือบูรณะ (Restoration) รถยนต์โบราณในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับนิยามรถโบราณที่อ้างอิงข้อมูลจากสโมสรรถยนต์โบราณแห่งอเมริกา นิยามว่า “รถยนต์โบราณ” ต้องเป็นรถยนต์ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป