ดอลลาร์อ่อนค่า ขานรับดัชนี PMI ปรับลดลง

เงินดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: REUTERS/Dado Ruvic/

ดอลลาร์อ่อนค่า ขานรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลง เหตุได้รับผลกระทบจากการลดลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าของสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 4 มีนาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (04/03) ที่ระดับ 34.06/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (03/04) ที่ระดับ 34.16/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลง หลังจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลง สู่ระดับ 50.3 ในเดือน ก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 50.6 จากระดับ 50.9 ในเดือน ม.ค. โดยได้รับผลกระทบจากการลดลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าของสหรัฐ

ด้านปัจจัยภายในประเทศวันนี้ (04/03) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผย ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ม.ค. 2568 เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2567 มีการส่งออกมูลค่า 25,277 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวที่ระดับ 13.6% โดยมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 862,367 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวที่ระดับ 11.8% และเมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือน ม.ค. ขยายตัวที่ระดับ 11.4%

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,157.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวที่ระดับ 7.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 938,112 ล้านบาท ขยายตัวที่ระดับ 6.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือน มกราคม 2568 ขาดดุลเท่ากับ 1,880.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาท 75,746 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท.กล่าวว่า ภาวะการส่งออกของไทยในเดือน ม.ค. 2568 ที่ขยายตัว 13.6% เป็นเหมือนภาพลวงตา โดยพบการกระจุกตัวในสินค้าบางกลุ่มที่เติบโตผิดปกติ ได้แก่ อิเลคทรอนิกส์ที่ขยายตัว 17% และเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัว 10% เนื่องจากความกังวลเรื่องผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าจึงเป็นการเร่งส่งออกล่วงหน้า

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.82-34.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.82/83 บาทดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (04/03) ที่ระดับ 1.0484/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (03/03) ที่ระดับ 1.0440/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน สำหรับดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ะดับ 2.3% แต่ชะลอตัวจากระดับ 2.5% ในเดือน ม.ค.

ADVERTISMENT

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.5% แต่ชะลอตัวจากระดับ 2.7% ในเดือน ม.ค. นอกจากนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันพฤหัสบดีนี้ (06/03)

หาก ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ตามคาด จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 6 นับตั้งแต่ ECB เริ่มวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. 2567 และจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ระดับ 2.50% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 2.90% ส่วนอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อยู่ที่ระดับ 2.65%

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0470-1.0523 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0515/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้านี้ (04/03) ที่ระดับ 149.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (03/03) ที่ระดับ 150.87/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเงินเยน หลังจาก ปธน.ทรัมป์อ้างว่า ญี่ปุ่นกำลังดำเนินนโยบายเพื่อลดค่าเงินเยน

โดยเมื่อวันจันทร์ (03/03) ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า ได้แจ้งต่อผู้นำญี่ปุ่นและจีนว่าทั้ง 2 ประเทศไม่สามารถลดค่าเงินของตนเองอย่างต่อเนื่องได้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐ และระบุว่าสหรัฐสามารถชดเชยความเสียเปรียบที่ผู้ผลิตต้องเผชิญด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้า ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเผชิญจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายค่าเงินและภาษีนำเข้าของสหรัฐ

และเมื่อสอบถามเกี่ยวกับความเห็นของ ปธน.ทรัมป์ แก่นายคัตสึโนบุ คาโตะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น เขากล่าวว่า ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้นโยบายที่มุ่งทำให้เงินเยนอ่อนค่าโดยตรง นอกจากนี้ ยังย้ำชัดว่า ญี่ปุ่นได้ยืนยันจุดยืนพื้นฐานเกี่ยวกับนโยบายค่าเงินกับกลุ่ม G7 และสหรัฐ รวมถึงในการหารือทวิภาคีกับสก็อตช์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.58-149.57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่นเดือน ก.พ., การเปลี่ยนแปลงอัตราการว่างงานของสเปนเดือน ก.พ., อัตราการว่างงานประจำเดือนของอิตาลีเดือน ม.ค. และอัตราการว่างงานของยูโรโซนเดือน ม.ค.

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.7/-7.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.6/-5.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ