เปิด 7 สินค้าส่งออกไทย เสี่ยงโดนเก็บภาษีจากทรัมป์ พึ่งพาตลาดสหรัฐถึง 21%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยมีสินค้าส่งออกของไทย 7 รายการ เสี่ยงโดนเก็บภาษีจากทรัมป์ ชี้พึ่งพาตลาดสหรัฐถึง 21% ของการส่งออกกลุ่มนี้

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย นำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบของประเทศไทย จากนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยชี้ว่า มี 7 สินค้าเสี่ยงโดนเก็บภาษีจากทรัมป์ จากการที่ไทยพึ่งการส่งออกไปสหรัฐถึง 21% ของการส่งออกกลุ่มนี้ทั้งหมด

ตั้งแต่พิธีสาบานตน ทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าอะไร กับคู่ค้าใด แล้วบ้าง ?

  • เฉพาะเจาะจงคู่ค้า : สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั่วไปเพิ่ม 10% จากจีน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ และเก็บเพิ่มอีก 10% ในวันที่ 4 มีนาคม ขณะเดียวกันก็จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทั่วไป 25% กับเม็กซิโก และแคนาดา (ยกเว้นกลุ่มพลังงานจากแคนาดา ขึ้น 10%) ในวันที่ 4 มีนาคม หลังเลื่อนมา 1 เดือน
  • ทุกคู่ค้า : สหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก อะลูมิเนียม 25% ในวันที่ 12 มีนาคม และเตรียมจะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% วันที่ 2 เมษายน พร้อมระบุถึง เซมิคอนดักเตอร์ ยา ไม้แปรรูป และทองแดง ซึ่งยังต้องรอการยืนยัน

นอกจากนี้ ทางการสหรัฐกำลังจัดทำผลการศึกษา Reciprocal Tariff หรือภาษีต่างตอบแทน ซึ่งจะทยอยประกาศตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สหรัฐเลือกจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเฉพาะเจาะจง 7 ประเภทสินค้า ได้แก่ เหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) ยา ไม้แปรรูป ทองแดง ก่อนสินค้าอื่น ๆ เป็นเพราะ 3 เหตุผลคือ

1. สหรัฐขาดดุลการค้าสินค้ากลุ่มนี้ในมูลค่าสูงเป็นส่วนใหญ่

2. อัตราภาษีนำเข้าสหรัฐต่ำกว่าคู่ค้า

ADVERTISMENT

3. สหรัฐต้องการสนับสนุนให้เกิดการผลิตในประเทศมากขึ้น โดยสินค้ากลุ่มนี้ มีซัพพลายเชนที่สามารถต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์เป้าหมาย ขณะที่สหรัฐมีความแข็งแกร่ง/เคยผลิตได้แต่เริ่มเสี่ยงจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

สินค้ากลุ่มนี้ของไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐเท่าไร ?

  • 21% เป็นสัดส่วนมูลค่าการส่งออก 7 ประเภทสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ เทียบกับที่ส่งออกไปตลาดโลก เป็นรองเวียดนาม (25%) แต่มากกว่ามาเลเซีย (15%) และอินโดนีเซีย (9%) หมายความว่า สำหรับไทยแล้ว บทบาทของสหรัฐ ในฐานะตลาดส่งออก 7 ประเภทสินค้า เฉลี่ยอยู่ที่กว่า 1 ใน 5 ก็นับว่าไม่น้อย
  • ใน 7 ประเภทสินค้า เซมิคอนดักเตอร์ (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) ส่งออกจากไทยพึ่งพาสหรัฐ ในสัดส่วนสูงราว 34% ของการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดโลก รองลงมาคือ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ส่งออกไปสหรัฐ ในสัดส่วน 18% และอะลูมิเนียม ส่งออกไปสหรัฐ ในสัดส่วน 15%

ADVERTISMENT

ผลที่ตามมา (หากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้าเหล่านี้) คืออะไร ?

  • ภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ผลักดันให้สหรัฐเร่งนำเข้าก่อนอัตราใหม่มีผลบังคับใช้ (Front-loading) แต่การเร่งนำเข้าในรอบนี้ จะมีความไม่แน่นอนแปรผันตามการเจรจาต่อรอง และอาจมีกรอบเวลาที่สั้นกว่าครั้งก่อน ๆ ที่ระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับกระบวนการไต่สวนและการวินิจฉัย เช่น กรณีโซลาร์ ไทยส่งออกไปสหรัฐ เร่งตัวขึ้นมากเป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่งก่อนคำตัดสินเรื่องการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-Circumvention) จะได้ข้อสรุป จากนั้นการส่งออกก็ชะลอตัวลง
  • ราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับขึ้นตามภาษี อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ จึงอาจไม่ปรับลดลง และเป็นปัจจัยรั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ขณะที่ ซัพพลายเชนที่ใช้สินค้าเหล่านี้เป็นวัตถุดิบ คงต้องเปรียบเทียบต้นทุนจากแหล่ง Sourcing ต่าง ๆ หรืออาจพิจารณาปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบอื่นแทน เช่น Coca-Cola ระบุ จะพิจารณาปรับบรรจุภัณฑ์จากกระป๋องอะลูมิเนียมมาเป็นขวดพลาสติกมากขึ้น เป็นต้น

ติดตามความชัดเจนของพิกัดสินค้าและอัตราภาษีของสหรัฐ รวมถึง Reciprocal Tariff ที่สหรัฐจะเก็บแต่ละคู่ค้า ตลอดจนท่าทีของประเทศต่าง ๆ ซึ่งสถานการณ์ที่ยังไม่นิ่งนี้ ทำให้ยากจะประเมินขนาดผลกระทบได้อย่างแน่ชัด แต่แน่นอนว่า สงครามการค้าที่ขยายเป็นวงกว้าง จะเป็นผลลบต่อการค้าและการลงทุนของซัพพลายเชนทั่วโลก

ผลต่อไทย มองอย่างไร ?

ผลทางตรงต่อการส่งออกของไทย ในภาพรวมนับว่ามีพอสมควร เนื่องจากมูลค่าการส่งออก 7 ประเภทสินค้าของไทยไปยังสหรัฐ รวมอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 40% ของการส่งออกทุกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐ และคิดเป็น 7.4% ของมูลค่าการส่งออกทุกสินค้าของไทยไปตลาดโลกในปี 2567

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชน เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐเป็นหลัก ยิ่งเมื่อในระยะหลัง การลงทุนในไทยส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนจีน ทำให้ไปข้างหน้ามีความเสี่ยงที่สินค้าส่งออกจากไทยจะถูกกีดกันมากขึ้น

ทั้งนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องอุปกรณ์ส่งรับเสียง/ภาพ/ข้อมูลอื่น ๆ และอุปกรณ์สำหรับสื่อสารในระบบเครือข่ายทางสาย/ไร้สาย ไดโอด ทรานซิสเตอร์ และกลอุปกรณ์กึ่งตัวนำ หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องส่งสำหรับวิทยุ/กล้อง เป็นต้น

ส่วนอีก 6 ประเภทสินค้า คงได้รับผลกระทบจากความต้องการนำเข้าของสหรัฐที่ลดลง แต่คงจำกัดกว่า เนื่องจากตลาดส่งออกมีการกระจายตัว โดยพึ่งพาจีนและอาเซียนด้วย จึงช่วยบรรเทาผลกระทบทางตรงได้บางส่วน นอกจากนี้ บางประเภทสินค้าอาจได้รับอานิสงส์จากส่วนต่างอัตราภาษีนำเข้าใหม่เทียบกับเดิมที่น้อยกว่าคู่ค้าอื่น เช่น อะลูมิเนียม ที่เดิมไทยถูกเก็บภาษี 10% อยู่แล้ว หากทุกประเทศโดน 25% เท่ากัน อะลูมิเนียมจากไทยจะมีส่วนต่างน้อยกว่าคู่ค้าอื่น

สำหรับผลทางอ้อมจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการที่คู่ค้าต่าง ๆ ต้องหาตลาดส่งออกทดแทนสหรัฐ จะทำให้ผู้ผลิตไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงทั้งในตลาดไทยและตลาดส่งออกอื่น ๆ

ถัดจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนจากแผนภาษีของทรัมป์ที่รอข้อสรุป แต่เบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ จะกระทบการส่งออกของไทยราว 0.5% และเราได้คำนึงถึงผลกระทบนี้แล้วระดับหนึ่งในประมาณการปี 2568