ธุรกิจทองแข่งขันสูง รายเล็กสู้ไม่ไหวแห่ปิดตัว ปี’67 เลิกกิจการ 177 ราย

ทอง

ฝ่ายวิจัยธุรกิจธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เผยธุรกิจร้านทองปี’67 เลิกกิจการ 177 ราย สวนทางยอดจดทะเบียนนิติบุคคลพุ่ง สะท้อนการแข่งขันสูง คนหันไปซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น คาดปี’68 แนวโน้มธุรกิจชะลอตัว ทองแพง-กำลังซื้ออ่อนแอ

ฝ่ายวิจัยธุรกิจธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ วิเคราะห์ภาพรวมการเติบโตของธุรกิจร้านทอง วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ด้านผู้ประกอบการร้านทองจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าปี 2567 มีผู้ประกอบการในธุรกิจร้านทองทั่วประเทศที่จดทะเบียนนิติบุคคลและยังคงดำเนินเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 9,728 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวน 9,425 ราย

สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของธุรกิจร้านทองในประเทศ โดยจำนวนผู้ประกอบการที่จัดตั้งใหม่มีจำนวน 491 ราย สูงขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 457 ราย แสดงให้เห็นว่าธุรกิจร้านทองยังคงได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเข้าสู่ตลาด

อย่างไรก็ตามแม้จำนวนร้านทองที่ดำเนินกิจการอยู่จะเพิ่มขึ้นขึ้นแต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการบางส่วนที่ต้องปิดกิจการ โดยปี 2567 มี 177 รายที่เลิกกิจการ สูงกว่าปี 2566 ที่มีจำนวน 163 ราย สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจรวมถึงผลกระทบจากต้นทุนดำเนินงานที่สูงขึ้นและพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปซื้อขายทองทำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานของธุรกิจร้านทองในช่วงที่ผ่านมาพบว่า รายได้รวมของผู้ประกอบการขนาดใหญ่และขนาดกลางยังมีทิศทางขยายตัวสะท้อนถึงความสามารถในการรักษาฐานลูกค้าและการปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มของตลาด

ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กมีแนวโน้มเผชิญกับภาวะถดถอยของรายได้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากแพลตฟอร์มออนไลน์ประกอบกับการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปลงทุนในทองคำแท่งและทองคำล่วงหน้ามากกว่าการซื้อทองรูปพรรณ รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ทำให้ร้านทองขนาดเล็กต้องเผชิญกับแรงกดดันทางธุรกิจที่สูงขึ้น

ADVERTISMENT

ส่วนภาพรวมการเติบโตของธุรกิจร้านทองในปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัว จากแรงกดดันของภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศยังคงอ่อนแอจากค่าครองชีพที่สูงและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการซื้อทองรูปพรรณลดลง เนื่องจากทองรูปพรรณถูกจัดเป็นสินค้าฟุ่มเพื่อยที่มักได้รับผลกระทบโดยตรงจากกำลังซื้อที่ถดถอย

ADVERTISMENT

โดยเฉพาะร้านทองขนาดเล็กซึ่งเป็นกลุ่มผู้เล่นที่มีจำนวนมากที่สุดในตลาดคิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากร้านทองกลุ่มนี้ดำเนินธุรกิจในรูปแบบดั้งเดิมที่เน้นการซื้อขายทองคำรูปพรรณเป็นหลัก ทำให้รายได้หลักของร้านทองขนาดเล็กมาจากค่ากำเหน็จในการขายทองรูปพรรณ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงตามปริมาณการซื้อทองรูปพรรณใหม่ที่คาดว่าจะซบเซา

นอกจากนี้แนวโน้มราคาทองคำที่ทรงตัวในระดับสูงยังส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้เกิดแรงขายทองเพื่อทำกำไรมากกว่าการซื้อทองใหม่ ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันต่อรายได้ของร้านทองที่พึ่งพาค่ากำเหน็จเป็นหลัก หากราคาทองคำยังคงมีความผันผวนสูงผู้บริโภคอาจชะลอการซื้อทองรูปพรรณและหันไปลงทุนในทองคำแท่งหรือผลิตภัณฑ์อนุพันธ์แทน ทำให้ยอดขายของร้านทองแบบดั้งเดิมลดลงต่อเนื่อง

อีกปัจจัยที่อาจส่งผลต่อรายได้ของร้านทองคือ รายได้จากบริการฝากทองคำ (Gold Pawning) ที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของโรงรับจำนำซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการโรงรับจำนำของภาครัฐหรือเอกชนที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าร้านทอง แทนการนำทองไปขายฝากกับร้านโดยตรง ส่งผลให้รายได้จากค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยของร้านทองลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มร้านทองขนาดเล็กที่พึ่งพาธุรกิจขายฝากเป็นแหล่งรายได้เสริม

นอกจากนี้ มาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น เช่น กฎเกณฑ์ด้านการป้องกันการฟอกเงิน (AML) และการรายงานธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับทองคำ อาจเพิ่มต้นทุนทางธุรกิจให้กับร้านทอง โดยเฉพาะในด้านระบบการตรวจสอบธุรกรรมและการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็กที่มีทรัพยากรจำกัด

อย่างไรก็ตาม ร้านทองขนาดใหญ่ที่สามารถปรับตัวเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์และให้บริการลงทุนทองคำแบบดิจิทัล จะยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ โดยเฉพาะธุรกิจออมทองออนไลน์, การซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) และ Gold ETFs ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาเก็งกำไรในช่วงราคาทองคำขาขึ้น หรือเพื่อกระจายความเสี่ยงในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน

นอกจากนี้ ตลาดส่งออกทองคำอาจเป็นอีกช่องทางที่ช่วยลดแรงกดดันของตลาดในประเทศ โดยร้านทองที่สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดที่มีอุปสงค์สูง เช่น อินเดีย จีน และตะวันออกกลาง อาจมีโอกาสสร้างรายได้เสริมจากการส่งออกทองคำแทนการพึ่งพาตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว

สำหรับราคาทองคำในปี 2568 คาดว่ามีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่ยังคงเผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเงิน และภูมิรัฐศาสตร์ โดยปัจจัยที่สนับสนุนราคาทองคำให้ยังอยู่ในระดับสูง ได้แก่ แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งคาดว่าจะลดลง 2-3 ครั้งตลอดปี 2568 หากเศรษฐกิจสหรัฐ มีสัญญาณชะลอตัว การลดอัดราดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลดลง ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดลอดภัยที่ไม่มีดอกเบี้ยและกระตุ้นแรงซื้อจากนักลงทุนทั่วโลก ตลอดจนความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่อาจผลักดันราคาทองคำให้สูงขึ้น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ความตึงเครียดในยุโรป และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน อาจเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลก ทำให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยง