
เผ่าภูมิ เผยคลังเตรียมเสนอ ครม. ปรับโครงสร้างภาษีรถ PHEV และ HEV หวังตั้งฐานผลิตรถยนต์ในไทย ก่อนใช้จริง 1 ม.ค. 2569 พร้อมศึกษาโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ EV เก็บแบบขั้นบันได เสนอ ครม.ไม่เกินไตรมาส 2/68
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมปรับปรุงโครงสร้างภาษีรถยนต์ Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) โดยคาดว่าจะสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือน เม.ย. 68 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2569 เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และยกระดับไทยก้าวขึ้นเป็นฐานผลิตรถยนต์ PHEV
“ปัจจุบัน PHEV และ HEV ถูกจัดอยู่ในพิกัดอัตราภาษีเดียวกัน โดยพิจารณาจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ซึ่งไม่สะท้อนถึงการปล่อยมลพิษที่แท้จริงของ PHEV ส่งผลให้โครงสร้างภาษีไม่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้” นายเผ่าภูมิกล่าว
ขณะที่การศึกษาทบทวนเกณฑ์อัตราภาษี PHEV มีอยู่ 3 ข้อ ดังนี้
1.แยกการกำหนดอัตราภาษีระหว่างรถยนต์ PHEV กับ HEV
2.กำหนดอัตราภาษีโดยอิงระยะการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range) ต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง โดยใช้ตัวเลขระยะทาง 80 กิโลเมตรเป็นเกณฑ์ เพื่อมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีในการเพิ่มระยะวิ่งด้วยไฟฟ้า เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และให้พิจารณาเพิ่มระยะทางดังกล่าวในระยะต่อไปเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น
3.ตัดการพิจารณาความจุถังน้ำมันมาใช้ในการกำหนดอัตราภาษี เนื่องจากเป็นการลดศักยภาพของประเทศในการเป็นศูนย์กลางการผลิต เพราะต้องผลิตถังน้ำมันที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อีกทั้งยังเป็นการลดศักยภาพของรถยนต์ สร้างข้อจำกัดโดยไม่จำเป็น สร้างภาระแก่ประชาชน และทำให้ PHEV ไม่ได้รับความนิยม
นอกจากนี้ ยังมีการเร่งศึกษาปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ โดยหลักการเบื้องต้น ซึ่งหลักการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่แบบใหม่จะเป็นแบบขั้นบันได โดยแบตเตอรี่แบบใช้แล้วทิ้ง อาจเสียภาษีสูงกว่าแบตเตอรี่ที่ชาร์จซ้ำได้ น้ำหนักเบา และมีรอบชาร์จนาน คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเสนอ ครม.พิจารณาไม่เกินไตรมาส 2/2568
ปัจจุบันอัตราภาษีแบตเตอรี่แบบ Flat Rate อยู่ที่ 8% เท่ากันทุกประเภท แต่แนวทางใหม่อาจเป็นภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย
“แบตเตอรี่ที่สะอาด และมีศักยภาพสูง อัตราภาษีจะถูกลง ส่วนแบตเตอรี่ที่ชาร์จไม่ได้เต็มศักยภาพ เก็บประจุต่ำ อัตราภาษีจะแพงขึ้น ดังนั้น จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตผลิตแบตเตอรี่ที่สะอาดขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ไทยก้าวสู่ฐานการผลิตได้ง่ายขึ้น” รมช.คลัง กล่าว