ดอลลาร์อ่อนค่า กังวลสงครามการค้าโลก

dollar

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ท่ามกลางความกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และบรรดาประเทศคู่ค้าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 5 มีนาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (5/3) ที่ระดับ 33.69/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/3) ที่ระดับ 33.84/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลัง Dollar Index เปิดตลาดย่อตัวลงที่ระดับ 105.59 โดยดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและบรรดาประเทศคู่ค้าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ได้ประกาศเดินหน้าเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% และเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 20% ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอังคารที่ 4 มี.ค.

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังยืนยันจะเริ่มใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทุกประเทศที่เก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. ซึ่งการที่สหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน แคนาดา และเม็กซิโก ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าทั้ง 3 ประเทศได้ออกมาตรการตอบโต้ โดยแคนาดาประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐในอัตรา 25% มีผลตั้งแต่วันอังคารที่ 4 มี.ค. และจีนประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐบางรายการเพิ่มอีก 10-15% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.

นอกจากนี้จีนยังได้ระงับใบอนุญาตนำเข้าถั่วเหลืองของบริษัทสหรัฐ 3 แห่ง และหยุดการนำเข้าไม้ซุงจากสหรัฐ ส่วนเม็กซิโกประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบาม กล่าวว่า เม็กซิโกจะประกาศมาตรการตอบโต้ทางการค้าต่อสหรัฐในวันอาทิตย์ที่ 9 มี.ค.

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งจากประธานาธิบดีทรัมป์ เรื่องการหยุดให้ความช่วยเหลือทางการทหารกับยูเครน ซึ่งจะเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับตลาด โดยนักลงทุนยังคงจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ (7/3) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่ง ในเดือน ก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 143,000 ตำแหน่ง ในเดือน ม.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.0% ในเดือน ก.พ.

ด้านปัจจัยภายในประเทศ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญความเสี่ยงสูง โดยสำนักวิจัยในต่างประเทศปรับลดประมาณการ GDP ไทยลงเหลือ 2.6% จากเดิม 2.7% ท่ามกลางความเสี่ยงจากนโยบายการค้า และแรงกดดันต่อภาคการผลิตที่จะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนอุปสงค์ภายในประเทศยังคงเปราะบาง สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่นำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบ และประคองการเติบโตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลก การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลดต้นทุนผู้ประกอบการ และการยกระดับภาคการผลิตให้แข่งขันได้ในระยะยาว ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทภายในวันอยู่ในกรอบระหว่าง 33.62-33.77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.63/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (5/3) ที่ระดับ 1.0618/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/3) ที่ระดับ 1.0504/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยระหว่างวันมีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.6 ในเดือน ก.พ. 2567 ต่ำกว่าคาดการณ์และเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่ระดับ 50.7

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสเปน อิตาลี และฝรั่งเศส ซึ่งออกมามากกว่าที่คาดการณ์ แต่ในส่วนของเยอรมนีดัชนีออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0603-1.0714 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0707/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (5/3) ที่ระดับ 149.94/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/3) ที่ระดับ 148.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเช้าวันนี้ (5/3) au Jibun Bank ได้มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 53.7 ในเดือน ก.พ. สูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 53.1 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.0 ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายที่แข็งแกร่งและธุรกิจส่งออกใหม่ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภาคบริการเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงที่่ผ่านมา ซึ่งช่วยชดเชยการชะลอตัวของภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอ ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 149.11-150.18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.27/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ที่จะมีการรายงานในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP เดือน ก.พ. (5/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน ก.พ. (5/3), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ม.ค. (5/3), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (6/3), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (6/3), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน ม.ค. (6/3) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.พ. (7/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.45/-7.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.10/-6.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ