บสย. ลุยปลดล็อกค้ำประกันสินเชื่อรถกระบะใหม่ วงเงิน 1 หมื่นล้าน ก่อนสงกรานต์เห็น

สิทธิกร ดิเรกสุนทร
สิทธิกร ดิเรกสุนทร

บสย. ขานรับนโยบายรัฐ ปลดล็อก SMEs ซื้อรถกระบะใหม่ หนุน “กลุ่มเปราะบาง” อาชีพอิสระเข้าถึงสินเชื่อ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท คาดเริ่มได้ก่อนสงกรานต์ ช่วยกระตุ้นตลาดรถเชิงพาณิชย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดปีนี้

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ในปี 2568 บสย.ได้เตรียมวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 110,000 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 142,000 ล้านบาท ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 165,000 ราย รักษาการจ้างงาน 940,000 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ 454,300 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อต่าง ๆ ทั้งโครงการตามมาตรการรัฐ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ โดย บสย.ดำเนินการเอง ครอบคลุมการช่วยเหลือ SMEs ทุกกลุ่ม

โดยล่าสุดได้เปิดตัวมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ (บสย. SMEs PICK-UP) วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วย SMEs กลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อกระบะใหม่ ในการขนส่งสินค้าและธุรกิจค้าขาย เข้าถึงสินเชื่อในระบบผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. คาดว่าสามารถช่วยผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อรถกระบะใหม่เข้าถึงสินเชื่อ 12,500 ราย รักษาการจ้างงาน 37,500 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 41,300 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นตลาดรถเชิงพาณิชย์ที่ซบเซาให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดปีนี้

โดยมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ จะมีสัดส่วนการให้สินเชื่อสำหรับการเช่าซื้อกระบะเพื่อการพาณิช คือลีสซิ่งของบริษัทรถยนต์ 40% ลีสซิ่งในเครือสถาบันการเงิน 40% ลิสซิ่ง Non-Banks 20%

“ในสัปดาห์หน้าเราขอฟังความเห็นจากลิสซิ่งก่อน ว่าจะตอบโจทย์หรือปิด Pain Point ของลูกค้า ถ้าต้องการภาครัฐช่วยเหลือในส่วนของงบประมาณสนับสนุนควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ ด้วยกลไกลักษณะแบบไหน โดยคาดว่าก่อนสงกรานต์มาตรการนี้ออกมาให้บริการได้ ซึ่งหวังว่าอยากให้ทันกับงานบางกอก มอเตอร์โชว์ สำหรับวงเงิน 10,000 ล้านบาท น่าจะช่วยได้ประมาณ 1 หมื่นราย ซึ่งเป็นการเริ่มทดลองในเบื้องต้นก่อน” นายสิทธิกรกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย/กลุ่มเปราะบาง ผู้ที่เริ่มทำธุรกิจ อาชีพอิสระ บสย.พร้อมจัดโครงการค้ำประกันที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการกลุ่ม Micro SMEs ให้ครอบคลุมมากที่สุด ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs สร้างโอกาส” โครงการล่าสุดร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ มุ่งช่วย SMEs ที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อในระบบ วงเงินโครงการ 2,000 ล้านบาท ค้ำประกันไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย

ADVERTISMENT

และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs มีทุน” อีกโครงการล่าสุด มุ่งช่วย SMEs รายย่อย อาชีพอิสระที่มีปัญหาเข้าถึงสินเชื่อในระบบ วงเงินโครงการ 2,000 ล้านบาท ค้ำประกันไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย รวม 2 โครงการ คาดว่าจะช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบไม่ต่ำกว่า 200,000 ราย

นอกจากนี้ ยังมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 บสย. SMEs Small Biz และโครงการ PGS11 บสย. SMEs Smart Gen ให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือขนาดกลางที่มีศักยภาพ ต้องการขยายธุรกิจด้วยวงเงินสินเชื่อที่สูงขึ้น รวมถึงโครงการ PGS11 บสย. SMEs No One Left Behind และโครงการ PGS11 บสย. SMEs Smart Buil ตอบโจทย์ SMEs ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ จากเหตุการณ์หรือภาวะที่ไม่ปกติ เช่น อุทกภัย และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

ADVERTISMENT

สำหรับผลดำเนินงานปี 2567 บสย.มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 53,738 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้รับสินเชื่อ 88,472 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SMEs) 90% ค้ำประกันเฉลี่ย 100,000 บาทต่อราย อีก 10% เป็น SMEs ทั่วไป ค้ำประกันเฉลี่ย 4.96 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 58,986 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 487,253 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 220,462 ล้านบาท ภายใต้ 3 โครงการหลัก ได้แก่

1.โครงการตามมาตรการรัฐ วงเงิน 33,502 ล้านบาท คิดเป็น 62% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 83,012 ราย

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ โดย บสย.ดำเนินการเอง วงเงิน 10,343 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 5,184 ราย

3.โครงการ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2 (โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก) วงเงิน 9,893 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 1,543 ราย

ทั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในปี 2568 บสย.ได้ปรับเงื่อนไขมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” ให้ผ่อนปรนยิ่งขึ้น เพื่อช่วย SMEs ปลดหนี้ได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น อาทิ เพิ่มระยะเวลาผ่อน, ตัดเงินต้นเพิ่มขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวมาตรการใหม่ ช่วย SMEs “กลุ่มเปราะบาง” ที่มียอดหนี้ เงินต้นไม่เกิน 2 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 0% ชำระครั้งแรกเพียง 500 บาท ผ่อนสูงสุด 80 เดือน ตัดเงินต้นทั้งจำนวน ค่างวดขั้นต่ำเพียง 500-2,500 บาท และสามารถปลดหนี้ ลดต้น 30% เมื่อจ่ายต่อเนื่อง 6 งวด โดยตลอดปี 2568 ตั้งเป้าปรับโครงสร้างหนี้ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” ไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

พร้อมยังได้จัดกิจกรรมเชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” ระดมทีมงานผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” และการเข้าถึงสินเชื่อให้กับ SMEs เดินสายออกบูทที่ห้างโลตัส 12 จังหวัด กระจายไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ตลอดเดือนมกราคม-มีนาคม 2568

โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มี SMEs และลูกหนี้ บสย.เข้าร่วมกิจกรรมที่บูทรวม 288 ราย เป็นลูกหนี้ที่เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ 229 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 183 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็น SMEs ลูกหนี้ “กลุ่มเปราะบาง” ยอดหนี้ไม่เกิน 200,000 บาท จำนวน 175 ราย โดยมีลูกหนี้สามารถปลดหนี้ ปิดบัญชีได้ถึง 93 ราย จำนวนนี้เป็นกลุ่มเปราะบางสูงถึง 96% คิดเป็นมูลหนี้ 5.6 ล้านบาท