บาททรงตัว รอรับตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร

เงินบาท-ธนบัตร-แบงก์โน้ต
REUTERS/Athit Perawongmetha

เงินบาททรงตัว รอรับตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (6/3) ที่ระดับ 33.60/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/3) ที่ระดับ 33.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากดัชนีดอลลาร์ดิ่งลงกว่า 1% แตะระดับ 104.301 ซึ่งยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ประกาศเดินหน้าเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% และเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 20% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอังคารที่ 4 มี.ค.

นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ยืนยันจะเริ่มใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทุกประเทศที่เก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. แต่อย่างไรก็ดี รายงานล่าสุดระบุว่า ปธน.ทรัมปได้ตกลงที่จะเลื่อนเวลาการเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากแคนาดาและเม็กซิโกออกไปอีก 1 เดือน ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA)

ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐ เพิ่มขึ้นเพียง 77,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2567 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 148,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 186,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค.

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.5 ในเดือน ก.พ. จากระดับ 52.8 ในเดือน ม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.5 โดยดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคบริการของสหรัฐยังคงขยายตัว นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.6% หลังจากลดลง 0.6% ในเดือน ธ.ค.

ADVERTISMENT

โดยนักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 143,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.0% ในเดือน ก.พ.

ด้านปัจจัยภายในประเทศ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้หน่วยงานเศรษฐกิจทำมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรายไตรมาสให้ขยายตัวไม่น้อยกว่าไตรมาสที่ผ่านมา รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจะหารือกับคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยจะประชุมภายใน 2 สัปดาห์

ADVERTISMENT

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจีดีพีไตรมาสที่ 1 ปี 2568 จะเติบโตถึง 3.4% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวรายไตรมาสสูงสุดรอบ 10 ไตรมาส ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยอยู่ช่วงขาขึ้นเห็นได้จากทิศทางเศรษฐกิจปี 2567 โดยพิจารณาจากจีดีพีรายไตรมาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนี้ ไตรมาสที่ 1 เติบโต 1.7%, ไตรมาสที่ 2 เติบโต 2.3%, ไตรมาสที่ 3 เติบโต 3.0%, ไตรมาสที่ 4 เติบโต 3.2% โดยจีดีพีไตรมาสที่ 4 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส และการลงทุนภาครัฐโตสูงสุดในรอบ 36 ไตรมาส ขณะที่ภาคส่งออกกลับมาเติบโตดีขึ้น

โดยระหว่างวันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 33.55-33.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.71/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (6/3) ที่ระดับ 1.0798/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/3) ที่ระดับ 1.0712/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตลาดหุ้นเยอรมนีพุ่งขึ้น 3.4% โดยดัชนีหุ้นขนาดกลางทะยานขึ้น 6.2% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นรายวันที่มากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี พรรคการเมืองที่คาดว่าจะจัดตั้งรัฐบาลเยอรมนีชุดใหม่ตกลงจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 5 แสนล้านยูโร (5.34 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) และปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการกู้ยืม หุ้นกลุ่มก่อสร้างและกลุ่มอุตสาหกรมป้องกันประเทศพุ่งขึ้น

โดยหุ้น Heidelberg Materials ผู้ผลิตซีเมนต์ พุ่งขึ้น 17.5% และ Hochtief บริษัทรับเหมาก่อสร้าง พุ่งขึ้น 15.5% หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อาทิ Rheinmetall และ Renk พุ่งขึ้น 7.2% และ 6.8% ตามลำดับ ดัชนีหุ้นกลุ่มก่อสร้างและวัสดุ และดัชนีหุ้นกลุ่มกลาโหม พุ่งขึ้น 5.9% และ 3.3% ตามลำดับ ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ในขณะเดียวกัน ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของเยอรมนีปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบหลายปี ส่งผลกดดันต่อหุ้นในกลุ่มที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรับตัวลงมากที่สุด โดยวันนี้นักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ ซึ่งคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0750-1.0810 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0801/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (6/3) ที่ระดับ 149.10/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/3) ที่ระดับ 149.38/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ญี่ปุ่นพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่นอายุ 10 ปี พุ่งขึ้น 6.5 จุดเป็น 1.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2552

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีพุ่งขึ้น 10.5 จุดเป็น 2.51% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เริ่มมีการออกพันธบัตรตัวนี้ในปี 2550 หลังจากที่เกิดแรงเทขายในพันธบัตรเยอรมนีทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี พุ่งสูงขึ้นถึง 31 bsp ตอบรับแผนการเปลี่ยนแปลงด้านงบประมาณอย่างฉับพลันของรัฐบาลเยอรมนี ที่ขอให้สหภาพยุโรป (อียู) ปลดล็อกการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้น และจะหันไปทุ่มงบประมาณลงทุนด้านกลาโหมและโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น

ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 148.00-149.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐและปิดตลาดที่ระดับ 148.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่จะมีการรายงานในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจหรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (6/3), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (6/3), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน ม.ค. (6/3) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.พ. (7/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.3/-7.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.85/-4.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ