
เผ่าภูมิเผยกรมสรรพสามิตเตรียมศึกษาใช้กลไกภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานคาร์บอนต่ำ (SAF) ลดการปล่อย CO2 กว่า 80% ดันไทยเป็นศูนย์กลางการบินคาร์บอนต่ำ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต และคณะผู้บริหารกรมสรรพสามิต ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันราย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ณ จังหวัดระยอง
นายเผ่าภูมิเปิดเผยว่า การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานคาร์บอนต่ำ (SAF) เป็นการนำผลิตภัณฑ์ชีวภาพมาใช้ร่วมกับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน ซึ่งการใช้ SAF สามารถลดการปล่อย CO2 ได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของไทย ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยเป็นไปตามมาตรฐาน ISCC CORSIA (International Sustainability and Carbon Certification-Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) ที่เป็นมาตรฐานสากลที่ยอมรับในอุตสาหกรรมการบิน
ทั้งนี้ การกำหนดพิกัดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานคาร์บอนต่ำ (SAF : Sustainable Aviation Fuel) จะให้กรมสรรพสามิตเตรียมความพร้อมในการกำกับดูแล และใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นกลไกให้ไทยเป็นผู้นำสำหรับเชื่อเพลิงเครื่องบินชนิดใหม่นี้ โดยกรมสรรพสามิตกำลังดำเนินการกำหนดนิยาม คุณสมบัติ และอัตราภาษีของ SAF เพื่อจูงใจต่อการขยายกำลังการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีของ SAF โดยกำลังพิจารณาให้ภาษีน้ำมันชนิดใหม่นี้ดึงดูดกว่าน้ำมันแบบเดิมหรือ JET A1
“กรมสรรพสามิตพร้อมให้การสนับสนุนกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรและเกิดการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปาล์ม มัน อ้อย รวมถึงน้ำมันพืชใช้แล้ว และเพื่อส่งเสริมศักยภาพในการผลิตพลังงานชีวภาพของไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินคาร์บอนต่ำของภูมิภาคอาเซียนต่อไป” รมช.คลังกล่าว
ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสรรพสามิตให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างยั่งยืน ที่ผ่านมากรมมีมาตรการเพื่อส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยการจัดเก็บภาษีรถยนต์ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นต้น
ในส่วนของการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมัน SAF และน้ำมันชีวภาพประเภทอื่น ๆ นั้น กรมอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีการนำวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) มีความหลากหลาย ทั้งทางวัตถุดิบตั้งต้นและเทคโนโลยีการผลิต จึงต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน เพื่อให้การกำกับดูแลและการจัดเก็บภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน