
ดีเดย์ 10 มี.ค. นายกฯนัดถกบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ จัดแพ็กเกจชุดใหญ่ดันจีดีพีโต 3-3.5% ทั้งปลุกตลาดหุ้น หยุดแรงขายกองทุนรวม LTF พร้อมเพิ่มลดหย่อนหน่วยลงทุน Thai ESG เป็น 2 เท่า หรือ 6 แสนบาท ส่วนภาคอสังหาฯ ผ่อนเกณฑ์ LTV ซื้อบ้านหลังที่ 2 และเล็งต่ออายุลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง คาดบ้านราคา 3-50 ล้านบาทได้อานิสงส์ ส่วน บสย.ช่วยค้ำสินเชื่อซื้อรถกระบะใหม่
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 10 มี.ค. 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาอนุมัติมาตรการต่าง ๆที่จะออกมาเป็นแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้จีดีพี 2568 นี้ขยายตัวได้ 3-3.5% ต่อปี จากที่หลายสำนักประเมินกันว่าจะขยายตัวไม่ถึง 3%
ส่วนหนึ่งจะเป็นมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่จะต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนองออกไป รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการ LTV ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับไปพิจารณา
“การต่ออายุการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองไม่มีปัญหา ต่อแน่นอน โดยจะออกมาพร้อม ๆ กับเรื่องปลดล็อก LTV ที่น่าจะมีข่าวดี” แหล่งข่าวกล่าว
จัด 2 มาตรการเด็ดปลุกตลาดหุ้น
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า คลังสรุปมาตรการเกี่ยวกับการกระตุ้นตลาดหุ้นแล้ว มาตรการแรกคือหยุดแรงขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ปัจจุบันมีมูลค่าคงค้างเหลืออยู่กว่า 1.8 แสนล้านบาท โดยแปลงกองทุน LTF เดิมไปเป็นกองทุน Thai ESG X (กองพิเศษ หรืออาจใช้ชื่ออื่น) ซึ่งนักลงทุนต้องถือหน่วยลงทุนต่อไปอีก 5 ปีโดยจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีหักได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
รายละเอียดการหักลดหย่อนนั้น หากนักลงทุนมีมูลค่า LTF (ณ ราคาปัจจุบัน) เหลือมากกว่า 500,000 บาท ก็จะหักได้ไม่เกิน 500,000 บาท (5 ปี) โดยปีแรกจะหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนวงเงินที่เหลือให้นำมาหาร 4 เพื่อใช้หักลดหย่อนในอีก 4 ปีที่เหลือ ปีละเท่า ๆ กัน
เพิ่มลดหย่อน Thai ESG 2 เท่า
ส่วนอีกมาตรการจะเป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อกระตุ้นให้เกิดเงินลงทุนใหม่ โดยให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมสำหรับกองทุน Thai ESG ปัจจุบันที่หักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 3 แสนบาทต่อปีอยู่แล้ว ซึ่งหากนักลงทุนซื้อหน่วยลงทุน Thai ESG เพิ่มในช่วงเวลาที่กำหนด เบื้องต้นคาดว่าจะให้เวลา 2 เดือน จะหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มอีก 3 แสนบาท ทำให้รวมแล้วจะหักลดหย่อนภาษีได้ 6 แสนบาท
“มาตรการแปลง LTF เป็น Thai ESG จะเน้นชะลอการขายเพื่อพยุงตลาด ส่วนมาตรการให้หักลดหย่อนได้เพิ่มเติม จะมุ่งที่เงินลงทุนใหม่ เพื่อกระตุ้นตลาด” แหล่งข่าวกล่าว
คลังตั้งเป้าดันจีดีพีโต 3.5%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่ามาตรการผลักดันให้จีดีพีโตให้ได้ 3.5% จะให้ความสำคัญกับ 3 เครื่องจักรเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ 1.การลงทุน ที่ต้องเร่งเบิกจ่ายงบฯ ลงทุนภาครัฐให้ได้ 85% จากปกติจะได้ใกล้ ๆ 80% และผลักดันการลงทุนเอกชน ผ่านการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้เริ่มลงทุนจริงให้ถึง 45% จากปกติจะได้ราวปีละ 40%
2.การส่งออก ที่เป็นเครื่องจักรที่ใหญ่ที่สุด ตามแผนปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 4.4% และ 3.การท่องเที่ยว จากปีที่แล้วทำได้ 35 ล้านคน ปีนี้ตั้งเป้าไว้ประมาณ 38.5 ล้านคน ผ่านการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ โดยต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวให้ได้มากขึ้น
นอกจากนโยบายด้านการคลังแล้ว นโยบายการเงินต้องมีส่วนช่วยด้วย ทั้งเรื่องค่าเงินบาทที่ต้องอ่อนค่า และดอกเบี้ยที่ต้องต่ำ รวมถึงการปรับปรุงมาตรการเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ขณะเดียวกัน ก็อยากให้ธนาคารพาณิชย์ผ่อนปรนการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย
แบงก์หนุนผ่อนคลาย LTV
นายอลงกต บุญมาสุข เลขาธิการและประธานกรรมการบริหารสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่มีการนำเสนอขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาทบทวนผ่อนคลายเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) อาจส่งผลให้ผู้บริโภคพิจารณาในการซื้อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) บางส่วนสามารถขายบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่ยังมีสต๊อกอยู่ในแต่ละโครงการ
เมื่อซัพพลายมีแนวโน้มลดลง ผู้ประกอบการอาจจะเปิดโครงการใหม่ได้ แต่ต้องดูว่าหากผ่อนคลายแล้วกระทบอะไรบ้าง ภาระหนี้ครัวเรือนที่ปรับลดลงจะกลับไปเพิ่มขึ้นหรือไม่ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยเฉพาะหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังปรับตัวสูงขึ้น เพราะถ้าหากดูตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ยังมีอัตราไหลในกลุ่มของลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่
ลดค่าโอน-จำนองช่วยอีกแรง
นายณัฐพล ลือพร้อมชัย รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2568 หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลาย LTV มีโอกาสที่ตลาดจะฟื้นตัว เนื่องจากปัจจุบันมีลูกค้าบางกลุ่มที่มีเงินออมไม่พอ จึงชะลอการตัดสินใจซื้อบ้าน หากมีการผ่อนคลาย LTV บ้านหลังที่ 2 และ 3 จะช่วยให้ดีมานด์ส่วนนี้กลับมา โดยเฉพาะความต้องการที่อยู่อาศัยแท้จริง (Real Demand)
แม้ว่ากลุ่มผู้ที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือ 3 จะมีไม่มาก แต่การปลดล็อกจะช่วยให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จะเป็นบวกมากหรือน้อย เชื่อว่าเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับซัพพลายเชนค่อนข้างเยอะ หากสามารถฟื้นตัวได้จะดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และไม่ได้มีแค่มาตรการ LTV อย่างเดียว เชื่อว่ายังมีมาตรการอื่น ๆ ออกมาอีก ทั้งลดค่าโอน ค่าจดจำนอง ซึ่งล้วนแต่เป็นมาตรการที่ช่วยให้ตลาดฟื้นตัว
บ้าน 3-50 ล้านได้อานิสงส์
นายพีรพัฒน์ เกษมบุญชู รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มลูกค้ารายย่อย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH Bank กล่าวว่า หากผ่อนคลาย LTV มองว่าจะช่วยให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อบ้านขยายตัวมากกว่า 3% จากปีก่อนเติบโต 3% และยังช่วยสนับสนุนการเติบโตในกลุ่มราคาบ้าน 3-20 ล้านบาท และกลุ่มราคา 20-50 ล้านบาท โดยจะเป็นกลุ่มที่ธนาคารจะมุ่งเน้นการเติบโตในปี 2568 นี้
ธนาคารมองว่าการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV จะมีผลดีต่อลูกค้าผู้กู้ซื้อบ้าน และผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 และ 3 เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าที่มีกำลังซื้อและต้องการซื้อบ้าน หรือ คอนโดมิเนียม ซึ่งมาจากความจำเป็นหรือขยายครอบครัว หรือซื้อให้บุพการี เป็นต้น และธนาคารเห็นโอกาสในการเติบโตของกลุ่มพอสมควร
ปรับโครงสร้างภาษีรถ PHEV-แบต
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า คลังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) โดยคาดว่าจะสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2569 เพราะปัจจุบัน PHEV และ HEV ถูกจัดอยู่ในพิกัดอัตราภาษีเดียวกัน พิจารณาจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งไม่สะท้อนถึงการปล่อยมลพิษที่แท้จริง ส่งผลให้โครงสร้างภาษีไม่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้
พร้อมกันนี้เร่งศึกษาปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ ที่จะปรับเป็นแบบขั้นบันได จากปัจจุบันเป็นแบบ Flat Rate ที่ 8% เท่ากันทุกประเภท โดยแบตเตอรี่แบบใช้แล้วทิ้งอาจเสียภาษีสูงกว่าแบตเตอรี่ที่ชาร์จซ้ำได้ น้ำหนักเบา และมีรอบชาร์จนาน คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเสนอ ครม.พิจารณาไม่เกินไตรมาส 2 ปีนี้
ค้ำเช่าซื้อกระบะ 1 หมื่นล้าน
นายเผ่าภูมิกล่าวอีกว่า ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ไปทำโครงการค้ำประกันแก่ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์กระบะใหม่มือหนึ่ง เพื่อนำมาใช้ในพาณิชย์ เนื่องจากปัจจุบันตลาดยานยนต์ไทยมีปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อ คาดว่าเริ่มได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ปี 2568 นี้
ขณะที่นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.กล่าวว่า จัดทำมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ (บสย. SMEs PICK-UP) วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วย SMEs กลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อกระบะใหม่ คาดว่าสามารถช่วยผู้ประกอบการได้ 12,500 ราย รักษาการจ้างงาน 37,500 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 41,300 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นตลาดรถเชิงพาณิชย์ที่ซบเซาให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
“มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อจะมีสัดส่วนการให้สินเชื่อสำหรับการเช่าซื้อกระบะเพื่อการพาณิชย์ คือลีสซิ่งของบริษัทรถยนต์ 40% ลีสซิ่งในเครือสถาบันการเงิน 40% ลิสซิ่ง Nonbanks 20% ซึ่งในสัปดาห์หน้าเราขอฟังความเห็นจากผู้ประกอบการลีสซิ่งก่อน ว่าจะตอบโจทย์ หรือปิด Pain Point ของลูกค้า ถ้าต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในส่วนของงบประมาณสนับสนุนควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ ด้วยกลไกลักษณะแบบไหน”
ส่งซิกมีมาตรการใหญ่เพิ่มอีก
นายเผ่าภูมิกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจ เม็ดเงินมีอยู่จํากัด รัฐบาลไม่ใส่ในช่วงที่เศรษฐกิจฟูในไตรมาส 1/2568 แต่จะเป็นช่วงที่จําเป็นกว่าคือช่วงไตรมาส 2 ปลาย ๆ ไตรมาส 3 แต่เราก็ไม่หยุดแค่นั้น ซึ่งกําลังจะมีอีกหนึ่งมาตรการใหญ่ ๆ ที่ออกมาในช่วงใกล้ ๆ นี้
ส่วนที่ยังเป็นปัญหาของภาครัฐคือ เรื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะ ในเรื่องของกระบวนการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งตรงนี้รัฐบาลกําลังจะเข้าไปแก้ไขด้วยระบบการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่เข้าไปช่วยทําให้สถาบันการเงิน สามารถปล่อยสินเชื่อให้คนซื้อรถกระบะได้มากขึ้น
“เราต้องการทําให้ตลาดรถกระบะสามารถฟื้นฟูได้อีกครั้ง เนื่องจากมีการจ้างงานสูง มีการผลิตวัตถุดิบในประเทศสูงมาก และเป็นภาคส่วนที่ฟุบตัวอยู่ ซึ่งจะช่วยได้ 2 มุม ทั้งช่วยผู้ผลิตให้ขายรถออก และช่วยผู้บริโภคให้สามารถซื้อได้”
คลัง-แบงก์ชาติคุยปม LTV
ขณะที่เรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์ อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งต้องดูในหลายมิติ คุยกันอยู่ในเรื่องสภาวะเศรษฐกิจ ภาพรวมเรื่องอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ มีความสําคัญต่อประเทศสูง เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็เอาใจใส่ ซึ่งก็จะมีมาตรการในช่วงจําเป็น
เช่นเดียวกับเรื่องของการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV คุยกันแล้ว ซึ่งเห็นถึงความจําเป็นที่ต้องปลดล็อกตรงนี้ เข้าใจว่าเป็นกระบวนการคุยที่ต้องใช้เวลาและความพยายาม ซึ่งกระทรวงการคลังใช้ความพยายามอย่างมาก พร้อมร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในการที่จะปลดล็อกเงื่อนไขที่ไม่จําเป็นในการที่จะทําให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์สามารถฟื้นขึ้นมาได้