
คอลัมน์ : นอกรอบ ผู้เขียน : ธนา ตุลยกิจวัตร ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS
ความต้องการใช้บริการ Food Delivery เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ทำให้การจัดส่งอาหารในช่วงเวลายอดนิยม เช่น ช่วงพักกลางวันมีจำนวนพนักงานส่งอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการ และส่งผลต่อเนื่องให้ระยะเวลาจัดส่งนานกว่าที่ลูกค้าคาดหวัง
สะท้อนจากระยะเวลาจัดส่งต่อออร์เดอร์ของไทยโดยเฉลี่ยสูงถึง 40 นาที นานกว่าในสหรัฐ หรือจีนที่อยู่ระหว่าง 25-35 นาที และ “การใช้โดรนส่งอาหาร” เป็นหนึ่งในแนวทางที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพและร่นระยะเวลาในการจัดส่งอาหาร ซึ่งเริ่มมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐและจีน ซึ่งการใช้โดรนส่งอาหารมีจุดเด่น ได้แก่
– ความรวดเร็วในการจัดส่ง โดย Meituan แพลตฟอร์มสั่งอาหารในจีนสามารถใช้โดรนลดระยะเวลาในการจัดส่งอาหารจากออร์เดอร์ละ 30 นาที เหลือเพียง 12 นาที เร็วขึ้นถึง 150%
– ลดต้นทุนการขนส่ง โดย Domino Pizza ชี้ว่าการใช้โดรนช่วยลดค่าจ้างพนักงานและค่ารถส่งของ ทำให้ต้นทุนในการขนส่งลดลงถึง 20%
– การเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล โดย Zipline ใช้โดรนเพื่อส่งเวชภัณฑ์และอาหารให้กับชุมชนที่อยู่ห่างไกลในรวันดา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากลำบาก
– ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโดรนใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 50% เมื่อเทียบกับการขนส่งโดยรถจักรยานยนต์
และจากราคาโดรนที่มีแนวโน้มลดลงราว 20% ต่อปี Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในอนาคตโดรนจะเข้ามามีบทบาทในธุรกิจ Food Delivery ของไทยมากขึ้น จากปัจจัยสนับสนุน 4 ข้อ ดังนี้
1) ความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการขนส่งแบบดั้งเดิม ทั้งในมิติค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และการบำรุงรักษา ทั้งนี้ PWC มีการประเมินว่าค่าใช้จ่ายในการใช้โดรนขนส่งสินค้าจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2577 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า จะลดลงเหลือเพียง 2 เหรียญสหรัฐต่อครั้ง หรือลดลงมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในบริบทของประเทศไทย แม้ว่าในปัจจุบันการใช้โดรนส่งอาหารอาจมีความคุ้มค่าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการส่งอาหารโดยใช้รถจักรยานยนต์ แต่จากราคาของโดรนที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งสวนทางกับค่าแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทาง Krungthai COMPASS ประเมินว่าการใช้โดรนในธุรกิจ Food Delivery จะมีความน่าสนใจมากขึ้น และเริ่มมีความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจ สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องแนวทางการใช้โดรนเพื่อการขนส่งสินค้าทางอากาศเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย
โดยในปี 2572 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า การใช้โดรนส่งอาหารในไทยจะมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 2.2-2.8 ปี ซึ่งต่ำกว่าอายุการใช้งานของโดรนเฉลี่ยที่อยู่ที่ประมาณ 3 ปี
2) ตอบโจทย์คนเมืองที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ที่มีความต้องการด้าน Food Delivery สูง โดยข้อมูลล่าสุดจาก LINE MAN Wongnai ระบุว่าปัจจุบันแพลตฟอร์ม LINE MAN Wongnai มีผู้ใช้กว่า 10 ล้านรายต่อเดือน ดังนั้น การใช้โดรนส่งอาหารจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรที่ติดขัดและช่วยให้ส่งอาหารได้เร็วขึ้น ส่งผลให้สามารถรักษาคุณภาพและความสดใหม่ของอาหารไว้ได้
3) ช่วยลดปัญหามลพิษภายในเมือง การใช้โดรนส่งอาหารสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ เนื่องจากโดรนใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเป็นหลัก รวมถึงยังช่วยลดปริมาณยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปในการส่งอาหาร ทำให้ปัญหามลพิษภายในเมืองใหญ่ เช่น ฝุ่น PM 2.5 บรรเทาลงได้ โดยการใช้โดรนส่งอาหารจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงกว่า 30-50% เทียบกับการใช้รถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน
4) ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลน Rider โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น ช่วงพักกลางวัน หลังเลิกงาน หรือในช่วงเทศกาลที่มีความต้องการสั่งซื้ออาหาร Online เป็นจำนวนมาก และด้วยจำนวนพนักงาน Rider ที่มีจำกัด ทำให้พนักงานแต่ละคนต้องแบกรับปริมาณงานเป็นจำนวนมาก การใช้โดรนอาจช่วยแบ่งเบาภาระงานของพนักงานลงได้ และช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการระบบการจัดส่งอาหารได้ดียิ่งขึ้น
Krungthai COMPASS ประเมินว่าโดรนส่งอาหารในไทยอาจจะเกิดขึ้นจริงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ โดยในปี 2572 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า การใช้โดรนเพื่อขนส่งอาหารในธุรกิจ Food Delivery ของไทยจะมีมูลค่าราว 1.6 พันล้านบาท และในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2577 อาจมีมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่า 66% ต่อปี ทั้งนี้ การใช้โดรนส่งอาหารเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องมีความรู้ในการบริหารจัดการระบบโดรน
รวมถึงต้องลงทุนในอุปกรณ์ที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง ซึ่งอาจไม่เหมาะกับผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วไป แต่ผู้ให้บริการด้าน Food Delivery อาจมีความคุ้มค่าการลงทุนในเทคโนโลยีโดรนมากกว่า เนื่องจากมีจำนวนออร์เดอร์สูงและครอบคลุมหลากหลายพื้นที่