ภารกิจใหม่ บสย. รับลูกคลังค้ำเช่าซื้อกระบะ

Sitthikorn
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“ในปี 2568 บสย.ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเอสเอ็มอีกว่า 3.2 ล้านราย ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกัน โดยปีนี้ได้เตรียมวงเงิน 110,000 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 142,000 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ 165,000 ราย รักษาการจ้างงาน 940,000 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ 454,300 ล้านบาท”

ข้างต้นเป็นคำประกาศของ “สิทธิกร ดิเรกสุนทร” กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ถึงทิศทางการดำเนินงานของ บสย.ในปีนี้ ซึ่งเป็นการก้าวสู่ปีที่ 34

โดยปีนี้จะมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อต่าง ๆ ทั้งโครงการตามมาตรการรัฐ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” และโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ บสย.ดำเนินการเอง ครอบคลุมการช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มต่าง ๆ

ขณะเดียวกันจากนโยบายของกระทรวงการคลังที่จะให้ บสย. เข้าไปค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะให้กับเอสเอ็มอี ล่าสุด บสย.ได้เปิดตัวมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ (บสย. SMEs PICK-UP) วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเข้าถึงสินเชื่อรถยนต์กระบะมือหนึ่ง เพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์

“ภายใต้กฎหมายของ บสย. สามารถเข้าไปค้ำประกันลีสซิ่งได้อยู่แล้ว แต่ตามประกาศของกระทรวงการคลัง ปัจจุบันยังเข้าไปค้ำได้เฉพาะในลีสซิ่งที่สถาบันการเงินถือหุ้น 50% ก่อน โดยกลไกการค้ำประกันที่เตรียมไว้ 10,000 ล้านบาท จะเข้าไปช่วยได้ใน 2 กรณี”

“สิทธิกร” อธิบายว่า กรณีแรกที่จะค้ำเช่าซื้อรถกระบะ คือ เอสเอ็มอีผ่อนไม่ไหว อาจจะเป็นหนี้เสีย แล้วถูกยึดรถ ยกตัวอย่าง สัญญาเช่าซื้อ 800,000 บาท แต่ผ่อนไปแล้ว 100,000 บาท หากตีราคาขายทอดตลาดจะได้ 400,000 บาท เมื่อหักที่ผ่อนไปแล้ว 100,000 บาท ก็จะเหลือ 300,000 บาท ก็ส่งมาที่ บสย. จะมีมาตรการ บสย. พร้อมช่วย รองรับไว้ให้ ทำให้สามารถผ่อนต่อได้อีก 7 ปี

ADVERTISMENT

“แต่เดิมอาจจะผ่อนกับลีสซิ่ง เดือนละ 1 หมื่นบาท พอมาอยู่กับ บสย. งวดผ่อนอาจจะลง เหลือสัก 5-6 พันบาท ส่วนที่เหลือก็จะเป็นสภาพคล่อง ให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องต่อไปได้”

ส่วนกรณีที่ 2 ลูกค้าผ่อนไม่ไหว ติดต่อไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เป็น Pain Point ที่ลีสซิ่งกังวล ว่าจะตามตัวลูกหนี้ไม่ได้ ซึ่งหากมีแบบนี้มาก ๆ ก็จะกระทบสภาพคล่องของลีสซิ่ง ดังนั้น กลไกการค้ำประกันของ บสย.ก็เข้าไปช่วยจ่ายเคลมให้ 30-50% ของหนี้

ADVERTISMENT

“ถ้าตามตัวไม่ได้ในปีที่ 2 และลีสซิ่งตัดสินใจส่งมาเคลมกับ บสย. จะเคลมได้ 30% จากภาระค้ำประกัน เพราะมองว่ารถยนต์ยังมีมูลค่าสูงอยู่ แล้วเมื่อลีสซิ่งติดตามรถมาได้ ขายได้เท่าไหร่ ก็จะมาหักจากส่วนที่ขายไปแล้ว แล้วส่งมาเคลมที่ บสย. ถ้าตามได้ใน 3 ปี อาจจะเคลมได้ 40% หรือในปีที่ 4-6 อาจจะเคลมได้สูงสุดที่ 50%”

อย่างไรก็ดี แนวทางที่ว่านี้ บสย.จะมีการฟังความคิดเห็นจากลีสซิ่งก่อน เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าจะตอบโจทย์ หรือปิด Pain Point ของลูกค้าได้แค่ไหน เนื่องจากมาตรการนี้เป็นโปรดักต์ใหม่ของ บสย.

“คาดว่าก่อนเทศกาลสงกรานต์นี้ มาตรการน่าจะออกมาให้บริการได้ และอยากให้ทันช่วงที่มีงานบางกอก มอเตอร์โชว์ ที่จะจัดระหว่างวันที่ 26 มี.ค. ถึง 6 เม.ย.นี้ด้วย โดยวงเงินที่เตรียมไว้ 10,000 ล้านบาท น่าจะช่วยได้กว่า 1 หมื่นราย เป็นการเริ่มทดลองก่อน”