
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 3-7 มีนาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (3/3) ที่ระดับ 34.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 34.17/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์ก หลังจากการประชุมระหว่างประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประสบความล้มเหลว
ซึ่งทำลายความหวังในการบรรลุข้อตกลงสันติภาพในสงครามยูเครน-รัสเซีย อย่างไรก็ดีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงในคืนวันศุกร์ (28/2) หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.6% ในเดือน ธ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน ม.ค. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.3% ในเดือน ธ.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี
สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.9% ในเดือน ธ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน ม.ค. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.2% ในเดือน ธ.ค. นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐลดลง 0.2% ในเดือน ม.ค. สวนทางจากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% ส่วนรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือน ม.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้ น 0.4% ในเดือน ธ.ค.
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา ที่กลายเป็นประเด็นที่ตลาดจับตาอย่างใกล้ชิดในช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ได้ประกาศที่ทำเนียบขาวในวันจันทร์ (3/2) ว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% จะมีผลบังคับใช้ในวันอังคารที่ 4 มี.ค.ตามกำหนดเดิม
เนื่องจากเขาเชื่อว่าทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งจีน ไม่ได้มีความพยายามมากพอในการสกัดกั้นการลักลอบขนสารเคมีที่เป็นส่วนผสมยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เช่น เฟนทานิล เข้าสู่สหรัฐ รวมทั้งกล่าวว่ามาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ซึ่งจะใช้กับทุกประเทศที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจาสหรัฐนั้น จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย.ตามกำหนด พร้อมกับยืนยันว่าเขาจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากเดิมที่เรียกเก็บอยู่แล้ว 10% ส่วนจีนมีการตอบโต้การขึ้นภาษีของสหรัฐ
โดยมีการเตียมขึ้นภาษีสินค้าทางการเกษตรซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของสหรัฐ ในอัตราส่วน 15% อีกทั้งยังเพิ่มการควบคุมการส่งออกของบริษัทสัญชาติสหรัฐ ที่ทำการอยู่ในจีนจำนวน 15 แห่ง สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลง สู่ระดับ 50.3 ในเดือน ก.พ. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 50.6 จากระดับ 50.9 ในเดือน ม.ค.
โดยดัชนีได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานสำหรับภาคการบริการ ดัชนีภาคบริการปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.5 ในเดือน ก.พ. จากระดับ 52.8 ในเดือน ม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.5 รวมทั้งความกังวลเกียวกับการทำสงครามการค้าของสหรัฐ
อย่างไรก็ดีในช่วงปลายสัปดาห์ตลาดเริ่มมีความผ่อนคลายมากขึ้นหลังสหรัฐประกาศเลื่อนการเก็บภาษีรถยนต์จากแคนาดาและเม็กซิโกออกเป็นระยะเวลา 1 เดือน ทั้งนี้ตลาดยังรอดูสถานการณ์การค้าโลก ความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพ และตัวเลขภาคลาดแรงงานของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ (7/3)
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค. 68 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28/02) ว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น
ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการภาครัฐ สอดคล้องกับกิจการการค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน ก.พ. 2568 อยู่ที่ 48.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 48.5 ในเดือน ม.ค. 2568 จากการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ จากการเร่งเบิกจ่ายภาครัฐ ส่งออกขยาตัวต่อเนื่อง
แต่ภาคผลิตยานยนต์ยังชะลอตัว ด้านที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญความเสี่ยงสูง โดยสำนักวิจัยในต่างประเทศปรับลดประมาณการ GDP ไทยลงเหลือ 2.6% จากเดิม 2.7% ท่ามกลางความเสี่ยงจากนโยบายการค้า และแรงกดดันต่อภาคการผลิตที่จะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนอุปสงค์ภายในประเทศยังคงเปราะบาง
สอดคล้องกับมุมมองของ ธปท.ที่นำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งมีความเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบ และประคองการเติบโตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้า การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลดต้นทุนผู้ประกอบการ และการยกระดับภาคการผลิตให้มีศักยภาพทางการแข่งขันในระยะยาว โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.48-34.32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/3) ที่ระดับ 33.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (3/3) ที่ระดับ 1.0413/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 1.0396/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28/2) มีรายงานเปิดเผยว่า เศรษฐกิจฝรั่งเศสหดตัว 0.1% ในไตรมาสที่ 4/2567 ตรงตามตัวเลขประมาณการเบื้องต้น ทั้งนี้ สวนทางกับการขยายตัว 0.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการหดตัวครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2566 สำหรับตลอดทั้งปี 2567 GDP ฝรั่งเศสมีอัตราการเติบโตที่ 1.1% เท่ากับปี 2566
นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (INSEE) เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นว่าอัตราเงินเฟ้อฝรั่งเศสลดลงต่ำกว่า 1% ในเดือน ก.พ. เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยอยู่ที่ 0.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงอย่างรวดเร็วของราคาพลังงานในขณะที่ ดัชนี HICP ทรงตัวในเดือน ก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน ม.ค.
ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.6 ในเดือน ก.พ. 2567 ต่ำกว่าคาดการณ์และเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่รดับ 50.7 ในวันพฤหัสบดี (6/3) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามคาดหลังจากการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ECB คาดว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนจะมีการขยายตัว 0.9% ในปี 2568 ปรับตัวลดลงจากเดิมที่ 1.1% ขณะที่ปี 69 คาดว่าจะขยายตัว 1.2% จากเดิมที่คาดไว้ที่ระดับ 1.4% โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0380-1.0853 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/7) ที่ระดับ 1.0823/1.0824 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (3/3) ที่ระดับ 150.59/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 150.27/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยผลสำรวจภาคเอกชนในวันนี้ (3/3) เปิดเผยว่า กิจกรรมการผลิตในโรงงานของญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ในเดือน ก.พ. ท่ามกลางความกังวลเรื่องนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ
โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 49.0 ในเดือน ก.พ. จาก 48.7 ในเดือน ม.ค. นับเป็นการหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 3 เดือน และสูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 48.9 เล็กน้อย
โดยข้อมูลบ่งชี้ว่า ผลผลิตหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แม้จะชะลอตัวลงจากเดือน ม.ค. ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50.0 ตั้งแต่กลางปี 2566 ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของลูกค้าที่อ่อนแอทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่า ระดับความเชื่อมั่นของผู้ผลิตญี่ปุ่นต่อแนวโน้มธุรกิจปีหน้าลดลงอย่างมากจากเดือนก่อนหน้า จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ขึ้นภาษีนำเข้าประเทศคู่ค้าสำคัญ สร้างความไม่แน่นอนให้กับนักลงทุนและผู้กำหนดนโยบาย
โดยสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ด้านการจ้างงานพบว่าทรงตัวในเดือน ก.พ. เนื่องจากการเพิ่มพนักงานเพื่อเติมตำแหน่งว่าถูกหักล้างด้วยการไม่ทดแทนผู้ลาออกโดยสมัครใจ และการเกษียณอายุ ขณะที่ราคาวัตถุดิบ ค่าแรง และสาธารณูปโภคที่สูงขึ้น
รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ต้นทุนปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น กดดันให้ผู้ผลิตต้องปรับขึ้นราคาขายเร็วกว่าที่คาด และในเช้าวันอังคาร (4/3) กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นรายงานว่าอัตราว่างงานในเดือน ม.ค. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ธ.ค. โดยอยู่ที่ 2.5%
ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 53.7 ในเดือน ก.พ. สูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 53.1 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.0 ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายที่แข็งแกร่งและธุรกิจส่งออกใหม่ ทั้งนี้ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.30-151.31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/3) ที่ระดับ 147.40/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ