
ประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งระดมแผนงานฟื้นความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย เตรียมหารือ “คลัง” เดินหน้าแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค คาดเห็นผลใน 4 เดือน พร้อมผุดโครงการออมหุ้นระยะยาวรับสิทธิทางภาษี หวังดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น
นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) อย่างนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่กระทบการลงทุนทั่วโลก รวมทั้งสภาวะโดยรวมของประเทศไทย เช่น จีดีพีไทยเกือบต่ำที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้ตลาดทุนไทยอยู่ในเศรษฐกิจยุคเก่า เช่น พลังงาน ก่อสร้าง ธนาคาร ซึ่งในอดีตหุ้นเหล่านี้ต่างพุ่งแรง แต่ปัจจุบันกำไรบริษัทต่ำลง เฉลี่ยน้อยกว่า 2% ต่อปี ซึ่งเราไม่มีหุ้นแบบ เทคโนโลยี new economy ทำให้ดัชนีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีแผนที่จะยกระดับตลาดหุ้นไทยและช่วยฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนมากขึ้น โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่
1. การแก้กฎหมายแบบ Omnibus หรือการพิจารณาแก้กฎหมายรอบเดียวหลายฉบับ โดยจะแก้กฎหมายทั้งที่เป็นอุปสรรค และเพิ่มเติมข้อกฎหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนา ไปพร้อมกันทุกฉบับ ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ กฎหมายมหาชน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งปัจจุบันกำลังเตรียมเสนอกระทรวงการคลังว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งหากทำได้จริง คาดว่าจะสามารถแก้ไขกฎหมายและเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ภายใน 3-4 เดือน ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าสนใจให้แก่ตลาดทุนและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ได้มากขึ้น
2. โครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock Buyback) โดยจะมีการลดข้อจำกัดด้านกระบวนการและมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เช่น การปลดล็อกข้อจำกัดเดิมที่กำหนดให้ซื้อหุ้นคืนได้ไม่เกิน 10% ของทุนจดทะเบียน, การกำหนดให้ขายหุ้นที่ซื้อคืนภายใน 3 ปี และต้องรอให้โครงการเดิมจบไปก่อน 6 เดือนจึงจะสามารถซื้อหุ้นคืนได้อีก เป็นต้น โดยมองว่าจะช่วยความคล่องตัวให้ บจ. สามารถบริหารจัดการราคาหุ้น และส่งสัญญาณเชิงบวกต่อนักลงทุน และหากมีการแก้ข้อจำกัดได้ เชื่อว่าจะมี บจ.ซื้อหุ้นคืนมากขึ้นกว่าในปัจจุบันที่มีอยู่ราว 15 บริษัทในแต่ละปี
3. โครงการ New S-Curve Economy จะดึงดูดธุรกิจดิจิทัลและสุขภาพ ที่จดทะเบียนในไทย โดยมุ่งเน้นการดึงดูดบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve ซึ่งเป็นธุรกิจแห่งอนาคตของประเทศไทย ได้แก่ ธุรกิจ Healthcare, เทคโนโลยี และดิจิทัล ทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติให้เข้ามาจดทะเบียนใน SET รวมถึงบริษัทที่ขอรับการส่งเสริมจาก BOI โดยอาจจัดตั้งตลาดซื้อขายหุ้นกลุ่มนี้โดยเฉพาะแยกออกไปเช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หรือตลาด LiVex เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น Reginal Listing Hub
4. โครงสร้างหุ้นสองระดับ (Dual Class) เพื่อสร้างความน่าสนใจให้บริษัทที่ดีเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น ซึ่งจากเดิมที่เจ้าของบริษัทอาจกลัวเสียอำนาจควบคุม
5. โครงการ Jump+ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินโครงการ ให้เกิดขึ้นได้เร็ว ซึ่งจะทำให้บริษัทในตลาดหุ้นไทยมีผลประกอบการที่ดีขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ จากปัจจุบันหลายหลักทรัพย์มีราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการจูงใจบริษัทจดทะเบียนให้เข้าร่วมโครงการด้วยการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกำไรที่สามารถทำเพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้เร็ว เนื่องจากไม่ต้องมีการแก้กฎหมาย และแก้ไขเพียงกฎระเบียบต่าง ๆ เท่านั้น
6. โครงการออมเพื่อซื้อหุ้นไทย ส่งเสริมการลงทุนระยะยาว เตรียมเดินหน้าโครงการที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนอย่าง Thailand Individual Saving Account (TISA) เป็นโมเดลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำมาจากมาตรการของประเทศญี่ปุ่น NISA (Nippon Individual Savings Account) ซึ่งโครงการนี้จะทำให้นักลงทุนเข้าลงทุนหุ้นรายตัวได้โดยถือระยะยาว และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีบุคคลประจำปี ภายใต้เพดานที่กำหนด ซึ่งจะคล้ายคลึงกับกองทุนประหยัดภาษี แต่จะไม่ใช่มาตรการที่เข้ามาแทนกองทุนรวมที่มีอยู่เดิม ทั้ง RMF หรือ ThaiESG แต่จะเป็นมาตรการใหม่ที่ช่วยสนับสนุนหุ้นไทยโดยตรง ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะถือครองหุ้นไปจนถึงวัยเกษียณถึงจะขายหุ้นออกมาได้โดยไม่เสียภาษี
โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ กองทุน CMDF และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ซึ่งต้องเข้าไปหารือกับ กระทรวงการคลัง ว่าเห็นด้วยหรือไม่ และจะกระทบกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีอย่างไร
อย่างก็ตาม นอกเหนือจากมาตรการระยะยาวแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังดำเนินมาตรการระยะสั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบภายใน การให้ข้อมูลแก่นักลงทุน และการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุน เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและยกระดับตลาดทุนไทยให้กลับมาแข็งแกร่ง รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนระยะยาว หากมาตรการเหล่านี้ประสบความสำเร็จ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต