กรุงศรีประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ 33.50-34.20 บาท/ดอลลาร์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 33.50-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ติดตามเงินเฟ้อสหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.50-34.20 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 33.62 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายผันผวนในช่วง 33.56-34.32 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยประธานาธิบดีทรัมป์เลื่อนเก็บภาษีบางส่วนสำหรับเม็กซิโกและแคนาดาอีกครั้ง ส่วนผู้นํายุโรปถูกกระตุ้นให้เพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเมื่อสหรัฐลดการสนับสนุนทางทหารในภูมิภาค โดยเยอรมนีพลิกท่าทีครั้งสำคัญสู่การผ่อนคลายวินัยการคลัง

ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านความมั่นคงสูงถึง 3-3.5% ของจีดีพี ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า และอาจต้องใช้จ่ายเพิ่ม 7 แสนล้านยูโรถึง 1 ล้านล้านยูโร แผนนี้ยังรวมถึงการจัดตั้งกองทุนพิเศษ 5 แสนล้านยูโรสําหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน 10 ปีข้างหน้า ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมันกระชากขึ้น

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ลดดอกเบี้ยตามคาด ขณะที่ตลาดมองว่าอีซีบีอาจเข้าสู่โหมดชะลอการลดดอกเบี้ยนับจากนี้

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 4,364 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 7,575 ล้านบาท

ADVERTISMENT

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ ตลาดจะติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐ รวมถึงความคืบหน้าแผนใช้จ่ายของเยอรมนี อนึ่ง การที่ค่าเงินดอลลาร์ย่อลงหลังจากการประกาศกำแพงภาษีของประธานาธิบดี ทรัมป์ สะท้อนว่าผู้ร่วมตลาดกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งมีส่วนทําให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปีลดลงสู่บริเวณ 4.3% จากเหนือระดับ 4.8% เมื่อกลางเดือนมกราคม ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐหลายรายการออกมาแผ่วกว่าคาด บดบังความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ว่าแผนของทรัมป์ในการผ่อนคลายกฎระเบียบและการลดภาษีในประเทศจะช่วยหนุนการเติบโต

อย่างไรก็ดี การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกุมภาพันธ์ยังแข็งแกร่งและเอื้อให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงดอกเบี้ยในเดือนนี้ ทั้งนี้ สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 75bps ก่อนสิ้นปี 2568 สอดคล้องกับกรณีฐานของเรา ทางด้านค่าเงินเยนอาจได้แรงหนุนต่อเนื่อง ขณะที่แนวโน้มค่าจ้างเฉลี่ยสูงขึ้น เปิดทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า

ADVERTISMENT

สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ของไทยเพิ่มขึ้น 1.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ CPI พื้นฐานสูงขึ้น 0.99% โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในช่วง 1.1-1.2% ในไตรมาสปัจจุบัน