
ส.อ.ท. ชงรัฐ 4 ข้อเสนอเร่งด่วน รับมือนโยบายการค้าสหรัฐ ลุยตั้ง War Room ดึงนักธุรกิจร่วมเป็นทีมเจรจา ชี้สงครามครั้งนี้ไม่เหมือนสงครามทุกครั้ง เพราะกองทัพของทรัมป์เป็นนักธุรกิจชั้นนำของโลก ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนักธุรกิจที่มีความเข้าใจเข้าไปบูรณาการอยู่ในวอร์รูมเพื่อตั้งรับสงคราม พร้อมแนะรัฐต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสินค้าจีน-สินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาด หลังพบปี 2567 ไทยขาดดุลจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.63 ล้านล้านบาท
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานเสวนา Trade War 2025 จะรับมือกับ Trump อย่างไร? ซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ว่า ส.อ.ท. มีข้อเสนอเร่งด่วนต่อภาครัฐสำหรับมาตรการระยะสั้น 4 เรื่องหลักเพื่อรับมือสงครามการค้า (Trade War) คือ 1. ต้องบูรณาการข้อมูลการค้าเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการเจรจากับสหรัฐ เพราะทรัมป์ไม่สนว่าใครจะเป็นมิตรหรือมหามิตร ถ้าประเทศไหนได้ดุลการค้าสหรัฐโดนผลกระทบหมด ซึ่งวันนี้ประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยะ ตั้งแต่ปี 2017 จากระดับ 10% ปัจจุบันขยับเป็น 17%
ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งเก็บข้อมูลสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางปัญญา, ลิขสิทธิ์, ดาต้าเซ็นเตอร์, การจ่าย Netflix หรืองานวิจัยต่าง ๆ เพราะดีไม่ดีจากที่ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐอยู่ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเอาตัวเลขข้อมูลเหล่านี้มารวมกันแล้วไทยอาจเกินดุลไม่มากอย่างที่คิด
2.จัดตั้ง War Room รับมือนโยบายการค้าสหรัฐและขยายโอกาส รวมทั้งแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเป็นทีมเจรจา เพราะสงครามครั้งนี้ไม่เหมือนสงครามทุกครั้ง เพราะกองทัพของทรัมป์เป็นนักธุรกิจชั้นนำของโลก ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องมีนักธุรกิจที่มีความเข้าใจเข้าไปบูรณาการอยู่ในวอร์รูมเพื่อตั้งรับสงครามครั้งนี้
3.การเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสินค้าจีนหรือสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาด ในปี 2567 ไทยขาดดุลจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.63 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7-8% เมื่อเทียบจากปี 2566 นี่แค่สินค้าที่สำแดงถูกต้องผ่านศุลกากร ยังไม่นับสินค้าผ่านออนไลน์หรือเข้ามาอย่างผิดกฎหมายอีกจำนวนมาก เพราะฉะนั้นต้องยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายของไทยยังหย่อนยานไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเรื่องนี้ต้องเร่งดำเนินการ
และ 4. สนับสนุนในการเร่งซื้อสินค้า Made In Thailand สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งในปีแรกที่ผลักดันมีการจัดซื้อจัดจ้างผ่าน 15% คิดเป็นเงินราว 1.02 แสนล้านบาท ถ้าช่วยกันเร่งใน 3 ปีนี้ให้เพิ่มสัดส่วนเป็น 50-70% จะมีเงินหลายแสนล้านบาทหมุนเวียนอยู่ในระบบ ซึ่งทำให้ SME ของไทยเข้มแข็งขึ้น ไม่ต้องพึ่งการกู้ยืมหรือเป็นภาระทางการคลัง เพราะเป็นงบประมาณปกติที่มีอยู่แล้วทุกปี
“ที่ผ่านมากติกาการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐจะยึดราคาถูกที่สุด ซึ่งสินค้าไทยมักไม่ได้รับคัดเลือก ทำให้งบประมาณของเราถูกนำไปอุดหนุนแก่เงินต่างประเทศ และส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีไทยล่มสลายไปมาก ดังนั้นตอนนี้ไม่มีใครช่วยใครได้แล้ว เราต้องช่วยตัวเอง ด้วยการปลุกกระแสรักชาติ”
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ในส่วนมาตรการระยะยาวที่อยากเสนอคือ 1. ต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม จากรับจ้างผลิต (OEM) เป็นผู้ออกแบบ (ODM) หรือเป็นเจ้าของแบรนด์ (OBM) และส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งแห่งอนาคต เช่น อาหาร, เทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อเชื่อมโยง Global Supply Chain 2. พัฒนาสินค้าบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งพัฒนาคน 3. ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบที่ล้าสมัยเพื่อลดอุปสรรคและคอร์รัปชั่น และปฏิรูประบบราชการด้วยดิจิทัล และ 4. ส่งเสริมความร่วมมือ 10 ประเทศทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน เพื่อมุ่งเป็นทวีปที่มีอำนาจในการต่อรอง