แบงก์ตั้งการ์ดสูงสกัดNPL เบี้ยวหนี้60วันโดนขึ้นบัญชีดำ2ปี

แบงก์ตั้งการ์ดสูง สกรีนเข้มกลุ่มลูกค้าเบี้ยวหนี้ 30-60 วัน มีสิทธิ์ถูกแบนปล่อยกู้ทุกประเภท 2 ปี กรุงไทยเผยรื้อระบบปล่อยสินเชื่อใหม่ ตั้งด่านสกัดเอ็นพีแอล-ลดภาระตั้งสำรอง กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ชี้ค้างหนี้ 60 วันระงับใช้บัตร เผยมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 เอฟเฟ็กต์แบงก์ยกระดับปล่อยกู้เข้มขึ้น อ่วมต้นทุนตั้งสำรองเพิ่มเท่าตัว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่งได้เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย อาทิ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล โดยพบว่ามีกรณีที่ลูกหนี้มีประวัติค้างชำระหนี้บัตรเครดิตไม่เกิน 60 วัน และยังไม่เป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือเอ็นพีแอล ได้ยื่นขอสินเชื่อบ้านนอกจากจะไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว สถาบันการเงินยังได้แจ้งขึ้นบัญชีงดเว้นการปล่อยสินเชื่อใหม่ทุกประเภทเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งถือเป็นการใช้เกณฑ์เดียวกับลูกหนี้เอ็นพีแอล ทั้งที่ลูกหนี้ยังอยู่ในกลุ่มชำระปกติ

กรุงไทยรื้อเกณฑ์สินเชื่อ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธนาคารมีเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อเข้มมากขึ้นสำหรับกรณีการเว้นปล่อยสินเชื่อ 2 ปี ทั้งที่ยังไม่ได้เป็นเอ็นพีแอลนั้น ในส่วนของธนาคารกรุงไทยก็มีการใช้เกณฑ์ดังกล่าวเช่นกันแต่เป็นเฉพาะกรณี โดยหากแบงก์ประเมินว่าท้ายที่สุดแล้วลูกค้าดังกล่าวอาจผ่อนชำระไม่ไหว และผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด แบงก์ก็จะไม่อนุมัติสินเชื่อ ปัจจุบันแบงก์มีการเพิ่มตะแกรงพิจารณาสินเชื่อถี่ขึ้น เพราะเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อในอดีตของธนาคารไม่รัดกุมเพียงพอ หากเทียบกับแบงก์อื่น ๆ ทำให้เอ็นพีแอลของธนาคารเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นวันนี้ ธนาคารจึงปรับเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสียเหมือนในอดีต

“แม้ลูกหนี้ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล แต่เราเห็นสัญญาณผิดนัดชำระหนี้แบงก์ก็ต้องไม่ปล่อย เพราะหากแบงก์หลับหูหลับตาปล่อยกู้ก็อาจเจ๊ง และเมื่อลูกค้าประวัติไม่ดี เราก็ต้องทำให้เขารู้ตัวด้วย แต่การเว้นการปล่อยกู้ไปสองปี ก็ต้องดูประวัติด้วย แปลว่าที่ผ่านมาก็เคยมีประวัติค้างชำระมาแล้ว แบงก์จึงต้องระวังมากขึ้น แบงก์ไม่ได้อยากวิ่งหนีลูกค้า หรือไม่ตอบโจทย์ลูกค้า แต่ผู้ถือหุ้นเราต้องรอดด้วย” นายผยงกล่าว

ดังนั้นการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารในวันนี้จึงเป็นการค่อย ๆ ปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมกับแต่ละคนแต่ละกลุ่มสินเชื่อมากขึ้น และให้เหมาะกับความเสี่ยงที่จะเกิดกับพอร์ตแบงก์ด้วย อย่างไรก็ตาม ยอดการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารปัจจุบันถือว่ายังอยู่สูงเกิน 50% แต่การดูยอดการอนุมัติสินเชื่อก็ไม่ได้สะท้อนทั้งหมดว่าแบงก์ปล่อยสินเชื่อเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับวิธีการหาสินเชื่อเข้ามาด้วย เพราะกว่าจะถึงขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อ ก็ต้องถูกคัดกรองจากพนักงานธนาคารก่อน

“เรื่องมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะทำให้ธนาคารต้องมีการปรับตั้งสำรองเพิ่ม ซึ่งกรุงไทยก็ค่อย ๆ ปรับมาตั้งแต่ปีก่อน และทำมากขึ้นในปีนี้ วันนี้แบงก์ก็ต้องทำทุกอย่างให้สอดรับกับ IFRS9 ทั้งการให้สินเชื่อ และการตั้งสำรอง แม้เกณฑ์ปฏิบัติจะยังไม่ได้บอกชัดเจนว่าต้องเพิ่มส่วนไหนบ้าง แต่ก็ทำไปก่อนเป็นการเตรียมพร้อม แต่ท้ายที่สุดก็เชื่อว่าจะมีเกณฑ์จาก ธปท.มาเป็นแนวทางให้แบงก์ปฏิบัติ เพราะหากทำมากไปก็กระทบต่อต้นทุนธนาคาร” นายผยงกล่าว

เฟิร์สช้อยส์ค้าง 60 วันระงับบัตร 

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเว้นการปล่อยสินเชื่อกับลูกค้า 2 ปีนั้น สำหรับกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ดูเป็นรายกรณี โดยจะมีการเว้นการปล่อยกู้สูงสุด 2 ปี จนกว่าประวัติเก่าจะถูกล้างออกจากระบบจึงจะสามารถกลับมากู้ใหม่ได้นั้น เช่นกรณีที่ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้เกิน 30 วัน และมีประวัติค้างชำระต่อเนื่อง บริษัทอาจงดเว้นการปล่อยสินเชื่อใหม่ทันทีไม่ต้องรอให้เป็นเอ็นพีแอล

“หากลูกค้าค้างชำระไม่เกิน 30 วันถือว่าไม่สาหัส แต่หากค้างเกิน 30 วัน มองว่าลูกค้าอาจไม่มีความสามารถจ่ายคืน หากค้าง 60 วัน ยิ่งหนัก ก็อาจไม่ปล่อยให้ลูกค้าใช้บัตรต่อ การพิจารณาของบริษัทดูหลายอย่าง แม้ว่าไม่ได้เป็นเอ็นพีแอลก็ขอกู้ใหม่ไม่ได้ เพราะกรณีที่ขอกู้ใหม่ กู้เพิ่ม อาจแปลว่าลูกค้าไม่มีความสามารถผ่อนได้ การให้กู้เพิ่มก็ยิ่งทำให้ภาระเพิ่มขึ้น ดังนั้นจะให้กู้ก็ต้องดูประวัติย้อนหลังไม่ใช่แค่ดูของบริษัท ดูในระบบด้วย ว่าตอนนี้แต่ละคนมีภาระอะไรบ้าง หากผ่อนมากใบ มีหลายบัตรก็ไม่ไหว เกณฑ์อนุมัติสินเชื่ออีกตัวคือ ภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR ต้องไม่เกิน 40% ของรายได้”

นางสาวณญาณีกล่าวว่า ยอดอนุมัติสินเชื่อของบริษัทปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 40-45% ถือว่าทรงตัว เนื่องจากบริษัทมีการเปลี่ยนกลยุทธ์เน้นหาลูกค้าที่ดีเข้ามามากขึ้น เช่นโฟกัสไปที่กลุ่มผู้ขอสินเชื่อใหม่ หรือผู้ที่มีเงินเดือน 1.5-2.5 หมื่นบาทขึ้นไป จากเดิมกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำเงินเดือน 1 หมื่นบาท ทำให้ยอดการอนุมัติไม่ได้ลดลง และเอ็นพีแอลก็ทรงตัวที่ 2.5%

TMB สกรีนเข้มกู้ผิดวัตถุประสงค์ 

ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า การยกเว้นการให้สินเชื่อกับลูกค้าคนใดคนหนึ่งไป สักระยะ ก็ถือเป็นเกณฑ์ปกติ ที่แบงก์ปฏิบัติในวันนี้ โดยเฉพาะลูกค้าที่มีประวัติค้างชำระ หรือผิดนัดชำระหนี้บ่อย ๆ แม้ไม่เป็นเอ็นพีแอล กลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่แบงก์ต้องระวัง และอาจเว้นการปล่อยกู้ได้ แต่สิ่งที่มีแบงก์สกรีนเพิ่มเติมคือ การดูวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่ออย่างรัดกุม และเข้มงวดขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตือนสถาบันการเงินไว้ ให้มีการระวังการให้กู้

เนื่องจากการขอกู้ผิดวัตถุประสงค์ นำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ และเอ็นพีแอลในระบบให้สูงขึ้นในอดีต ดังนั้นหากแบงก์ตรวจสอบพบว่าลูกค้าขอสินเชื่อไปใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ สัญญาณแบบนี้แบงก์ควรมีการจัดชั้นเป็นสินเชื่อในกลุ่มเอ็นพีแอลทันที แม้ลูกหนี้จะยังไม่เคยผิดนัดชำระ และยังชำระดอกเบี้ยปกติก็ตาม

“กลุ่มลูกค้าที่ค้างชำระแบงก์ก็เข้มเป็นปกติอยู่แล้ว แบงก์จะไม่ให้กู้และเข้มมากขึ้นสำหรับการขอกู้ใหม่ เพราะกลัวเอ็นพีแอล แต่สิ่งที่มีเพิ่ม คือ ขอกู้อีกประเภทเพื่อเอาไปโปะสินเชื่ออีกตัว เพราะพวกนี้จะทำให้เกิดเอ็นพีแอล ในอดีตทหารไทยก็มีเคสแบบนี้ แต่วันนี้เราเข้มมากขึ้นในการให้กู้ และติดตามการเบิกใช้เงิน ดูพฤติกรรม หากมีสัญญาณก็ต้องจัดชั้น ที่ผ่านมาสถาบันการเงินอาจไม่มีกลไกตรวจสอบเท่าที่ควร จึงสร้างกลไกตรงนี้ขึ้นมาเพื่อให้ตรวจสอบการให้สินเชื่อลูกค้ามากขึ้น” นายปิติกล่าว

IFRS9 ทำแบงก์ปล่อยกู้ยาก

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า กรณีที่สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่จะบังคับใช้ปี 2562 ซึ่งทำให้แบงก์ต่าง ๆ ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น เนื่องจากต้องตั้งสำรองมากขึ้น หรือตั้งสำรองเต็ม 100% ในส่วนลูกหนี้ที่มีปัญหา หรือผิดนัดชำระหนี้ จากเดิมตั้งสำรองเต็มจำนวนเฉพาะสินเชื่อที่เป็นเอ็นพีแอลเท่านั้น

ทั้งนี้ หากดูมูลค่าเอ็นพีแอลในระบบปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย 2.9% อยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่ค้างชำระไม่เกิน 60 วัน ทั้งระบบปัจจุบันอยู่ที่ 2% หรือคิดเป็นวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ดังนั้นเมื่อ IFRS9 มีผล ทำให้แบงก์ต้องตั้งสำรองเต็มจำนวนวงเงินกู้ในสินเชื่อที่มีความเสี่ยงมากขึ้น หรือมีโอกาสจะเสี่ยงเป็นเอ็นพีแอลในอนาคต ทำให้กลุ่มที่จัดอยู่ใน SM หรือกลุ่มที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ หรือขอเลื่อนระยะเวลาการผ่อนชำระออกไป กลุ่มเหล่านี้แบงก์อาจต้องตั้งสำรองเต็ม 100%

ตั้งสำรองพุ่ง-ต้นทุนแบงก์กระฉูด

“เกณฑ์ใหม่กำหนดว่า หากสินเชื่อมีความเสี่ยง หรือโอกาสจะผิดนัดชำระ แบงก์ก็ต้องสำรองเต็ม 100% เพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งเมื่อรวมสินเชื่อที่เป็นเอ็นพีแอล กับกลุ่ม SM ทั้งระบบรวมกันก็มีมูลหนี้เกิน 7 แสนล้านบาท ซึ่งเยอะมากที่แบงก์จะต้องตั้งสำรอง ทำให้เป็นต้นทุนของแบงก์มหาศาล จึงเป็นเหตุว่าทำไมวันนี้แบงก์ต้องเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ทั้งใหม่และเก่า IFRS9 มีผลค่อนข้างมากกับการพิจารณาสินเชื่อของแบงก์ในอนาคต” นายนริศกล่าว

หากดูการอนุมัติสินเชื่อของแบงก์ทั้งระบบ สำหรับสินเชื่อรายย่อยในปัจจุบันเฉลี่ยยังอยู่ระดับสูง บางแบงก์เกิน 50% แต่ยอดอนุมัติสินเชื่อไม่ได้บ่งบอกว่า แบงก์เข้มขึ้นหรือไม่ก็ได้ เพราะแบงก์อาจเปลี่ยนกลุ่มเว้นกลุ่มที่เสี่ยงสูง และเลือกกลุ่มลูกค้าให้สินเชื่อมากขึ้น ทำให้แบงก์ยังคงอนุมัติสินเชื่อได้ต่อ