ราคาน้ำมันดิบปรับลด ท่ามกลางความวิตกต่อสงครามการค้าสหรัฐ-จีน และการเพิ่มกำลังผลิตของโอเปก

– ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง เนื่องจากตลาดมีความกังวลต่อข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับแรงกดดันด้านอุปทานส่วนเพิ่มจากกลุ่มโอเปก ซึ่งคาดว่าจะมีการตัดสินใจปรับเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมโอเปก ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย วันที่ 22-23 มิ.ย. 61

– จีนประกาศตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ที่ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราร้อยละ 25 ทั้งนี้ น้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดคาดว่าผู้ผลิตในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิหร่าน จะได้ประโยชน์จากข้อพิพาทนี้ เนื่องจากจีนอาจหันไปซื้อน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมาทดแทน

– ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียสนใจที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยกับอุปทานน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของเวเนซุเอลาและอิหร่าน และเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นแตะระดับ 100 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามข้อสรุปอย่างเป็นทางการในการประชุมโอเปกต่อไป

+ สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ เผยข้อมูลปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงกว่า 3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 430.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังปรับเพิ่ม

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปทานในภูมิภาคที่อยู่ในระดับสูง หลังโรงกลั่นเดินเครื่องผลิตเต็มอัตรา ประกอบกับอุปสงค์อยู่ในระดับอ่อนแอ

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้ว่าอุปสงค์เริ่มอ่อนตัวลงในช่วงฤดูมรสุม และอุปทานเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากการกลับมาดำเนินการผลิตของโรงกลั่นในภูมิภาค หลังสิ้นสุดฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 62-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 72-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาท่าทีของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเกี่ยวกับมาตรการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน หลังมาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้ผลิตอาจเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา โดยจะมีการหารือในการประชุมของกลุ่มโอเปกวันที่ 22-23 มิ.ย. นี้

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบอยู่เหนือระดับต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของสหรัฐฯ โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2562 จะขยายตัวราว 0.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับเฉลี่ย 11.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง หลังส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 1 ปี อาจโน้มน้าวให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะปรับเพิ่มการส่งออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น